fbpx

เที่ยวเมืองคามาคุระ ชมศาลเจ้าและวัดสำคัญๆกันอย่างจุใจ!

ม.ค. 28, 2021

เที่ยวเมืองคามาคุระ ชมศาลเจ้าและวัดสำคัญๆกันอย่างจุใจ!

เมืองคามาคุระ เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดคานากาวะซึ่งเต็มไปด้วยวัดและศาลเจ้าที่มีชื่อเสียง ถึงแม้ว่าจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่คามาคุระก็เต็มไปด้วยกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เนื่องจากเมืองนี้เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของญี่ปุ่นในสมัยโชกุน หรือในปี ค.ศ. 1185 – 1333 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในญี่ปุ่นมาก ด้วยเหตุนี้ fromJapan จึงจะพาทุกคนไป ‘เที่ยวเมืองคามาคุระ’ สไตล์สายบุญกัน ใครที่ชอบบรรยากาศของเมืองเก่าที่รุ่มรวยวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมล่ะก็ ตามเราไปเที่ยวเมืองคามาคุระกันได้เลย เราเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมาให้ทุกคนแล้ว!

สารบัญ

1. ศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกู

ศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกู (Tsurugaoka Hachimangu) เป็นศาลเจ้าที่สำคัญที่สุดในเมืองคามาคุระ และเป็น 1 ใน 3 ศาลเจ้าใหญ่ของศาลเจ้าฮาจิมัง ร่วมกันกับศาลเจ้าอุสะจิงกู จังหวัดโออิตะ และศาลเจ้าฮาโกซากิ จังหวัดฟุกุโอกะ (*หมายเหตุ : ศาลเจ้าฮาจิมัง หมายถึงศาลเจ้าที่มีการอัญเชิญเทพเจ้าฮาจิมังหรือเทพเจ้าแห่งสงครามมาประดิษฐาน)

ศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกูสร้างขึ้นในปี 1063 โดยมินาโมโตะ โยริโยชิ ผู้นำตระกูลมินาโมโตะซึ่งเป็นตระกูลผู้มีอำนาจในคามาคุระ ต่อมาศาลเจ้านี้ถูกย้ายทำเลที่ตั้งมายังบริเวณที่ตั้งในปัจจุบัน โดยมินาโมโตะ โยริโตโมะ ผู้ก่อตั้งรัฐบาลโชกุนคามาคุระ และขึ้นเป็นโชกุนคนแรกของยุคคามาคุระในปี 1192

ที่มา : https://www.pinterest.jp/pin/861383866206998625/?lp=true

ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเทพฮาจิมัง ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม ซึ่งเดิมทีเทพฮาจิมังก็คือจักรพรรดิโอจิน ซึ่งเป็นผู้ที่รบเก่งมากในขณะที่มีชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ ศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกูจึงเป็นที่สักการะของชนชั้นซามูไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตระกูลมินาโมโตะ ซึ่งเป็นตระกูลโชกุนของคามาคุระ เรียกได้ว่าเทพฮาจิมังเป็นเทพคุ้มครองประจำตระกูลมินาโมโตะเลยก็ว่าได้ (มีตำนานเล่าขานว่า ตอนที่มองโกลบุกญี่ปุ่น ก็เป็นเทพฮาจิมังนั่นเองที่บันดาลให้เกิดลมพายุพัดถาโถมเข้าใส่ทัพเรือของมองโกล จนกระทั่งแผนบุกญี่ปุ่นล้มเหลว คนญี่ปุ่นก็เลยเรียกลมพายุนี้ว่า กามิกาเซ่ หรือลมศักดิ์สิทธิ์ ที่กลายมาเป็นเรื่องราวต่อไปในตอนสงครามโลก)

เมื่อเดินเข้ามาในบริเวณศาลเจ้า ตรงใกล้ๆทางเข้าเราจะเจอศาลเบนไซเตนอยู่ตรงกลางสระน้ำ บริเวณรอบๆสระตรงนี้วิวสวยอยู่ครับ

ศาลเบนไซเตนตรงนี้ ส่วนมากคนจะมาไหว้สักการะขอพรให้คลอดบุตรอย่างปลอดภัยหรือไหว้ขอบุตร

กลับมาที่ทางหลัก เดินไปสักพักเราจะเจอจุดล้างมือ

ตรงบันไดทางขึ้นไปยังอาคารหลักนี้เคยมีต้นแปะก๊วยอายุพันปี ซึ่งในอดีตต้นแปะก๊วยนี้เคยเป็นที่หลบซ่อนของโจรที่หวังจะเข้าไปทำร้ายโชกุน แต่เมื่อปี 2010 ต้นแปะก๊วยนี้ไม่สามารถต้านแรงลมจากพายุได้ ทางศาลเจ้าจึงย้ายรากของต้นแปะก๊วยที่คงเหลืออยู่นี้มาไว้ตรงบริเวณข้างๆ

บริเวณโถงอาคารหลักจะเป็นที่ประดิษฐานของเทพฮาจิมัง ด้านหลังจะมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆที่จัดแสดงดาบและชุดเกราะต่างๆ (ตรงนี้เขาห้ามถ่ายรูปนะครับ)

ศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกูได้รับความนิยมอย่างมากจากบรรดาเด็กนักเรียนเช่นกัน เพราะเชื่อกันว่าเวลาสอบมันก็เหมือนกับเราไปสู้รบกับข้อสอบ ดังนั้นถ้าอยากเอาชนะข้อสอบก็ต้องมาไหว้ศาลเจ้าสายฮาจิมัง ประมาณนั้นครับ (ทำนองเดียวกับที่คนไปไหว้ศาลเจ้าสายเทนมังกุ เพราะเป็นศาลสายเทพการศึกษา) นอกจากนี้ ศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกูยังเป็นที่นิยมในหมู่นักกีฬา ซึ่งมักจะมาสักการะก่อนลงแข่งขันกีฬาอีกด้วย และสำหรับคนวัยทำงาน เวลาเจออุปสรรคในการทำงานก็มักจะมีคนมาไหว้เทพเจ้าที่นี่เพื่อขอให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้เยอะทีเดียวครับ

แน่นอนว่าที่นี่มีเซียมซีให้จับ แต่เซียมซีที่นี่จะต่างจากของที่อื่นๆนิดหน่อย คือเซียมซีที่นี่จะเป็นเซียมซีดวงไม่ดีครับ ดังนั้นแทนที่จะต้องเอาใบเซียมซีไปผูกไว้เหมือนที่อื่นๆก็ให้เราเอามาหยอดใส่กล่องตรงนี้แทน ว่ากันว่าเป็นการกำจัดโชคไม่ดีที่อาจเกิดขึ้นกับเราในอนาคต (ส่วนจุดผูกเซียมซีก็มีนะครับ แต่กลายเป็นว่าที่เอาไปผูกๆกัน หลายใบเป็นเซียมซีดวงดี)

พอเดินลงบันไดมาข้างล่างแล้วเลี้ยวซ้าย เราจะเจอหินตรงนี้ เป็นหินกระเรียนคู่เต่าครับ ว่ากันว่าเราสามารถขอเรื่องอะไรก็ได้ หัวข้อการขอพรตรงนี้จะเปิดกว้างครับ เราสามารถไปลูบหินเพื่อรับพลังก็ได้เช่นกัน

เดินไปอีกหน่อยจะเจอศาลชิราฮาตะ ศาลย่อยนี้เด่นเรื่องงานกับการเรียนเป็นพิเศษ

ศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ได้มีดีแค่ความขลังเท่านั้นนะ แต่วิวตอนช่วงใบไม้เปลี่ยนสีก็จัดว่าสวยอยู่ เพราะที่นี่มีต้นเมเปิลอยู่มากพอสมควรครับ

ตรงสะพานมีคนมามุงดูเจ้ากระรอกตัวนี้ น่ารักดีครับ

ที่มา : https://reki4.com/00007.html

ในเดือนกันยายนศาลเจ้านี้จะมีการจัดเทศกาล ‘Reitaisai’ ซึ่งภายในงานจะมีการโชว์ขี่ม้ายิงธนู (Yabusame) เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดต่อกันมากว่า 800 ปี โดยงานจะจัดขึ้นทุกๆวันที่ 14 – 16 กันยายนของทุกปี

ว่าแต่เราจะซื้ออะไรเป็นของที่ระลึกดีนะ?

ศาลเจ้าแห่งนี้มีเครื่องรางชัยชนะที่ช่วยให้ชนะทุกอย่างครับ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีนะ อ้อ! แล้วที่นี่ก็มีเครื่องรางลายคิตตี้ด้วยนะ น่ารักมากเลยล่ะครับ

ในส่วนของอาหาร จะมีร้านอาหารอยู่หน้าศาลเจ้าด้วยครับ เมนูแนะนำคือข้าวหน้าทูน่าพร้อมปลาชิราสุ คือเจ้าปลาตัวเล็กๆที่เห็นในรูปครับ เป็นอาหารขึ้นชื่อของคามาคุระเลยล่ะ

ข้อมูลของศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกู

ที่อยู่

Tsurugaoka Hachimangu
1-31-1 Yukinoshita, Kamakura City, Kanagawa Prefecture 248-8588

โทร

0467-22-0315

แฟ็กซ์

0467-22-4667

วันและเวลาทำการ
  • เดือนเมษายน – กันยายน : ศาลเจ้าเปิดให้เข้าสักการะเวลา 5:00 – 20:30 น.
  • เดือนตุลาคม – มีนาคม : ศาลเจ้าเปิดให้เข้าสักการะเวลา 6:00 – 20:30 น.
  • เฉพาะช่วงวันที่ 1 – 3 มกราคม : เปิดให้เข้าชม 24 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม

ไม่มีค่าเข้าชม

การเดินทาง

เดินจากสถานีรถไฟ Kamakura ประมาณ 15 นาที

สำหรับการเดินทางมายังสถานี Kamakura นั้น หากเราเดินทางมาจากสถานี Shinjuku ในโตเกียว ให้นั่งรถไฟ JR สาย Yokosuka หรือรถไฟ JR สาย Shonan Shinjuku (ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 940 เยน)

หรือหากใช้รถไฟ Odakyu ให้นั่งรถไฟไปลงที่สถานี Fujisawa (ใช้เวลา 1 ชั่วโมง) แล้วเปลี่ยนไปนั่งรถราง Enoden โดยนั่งไปจนสุดสาย (ใช้เวลา 30 นาที) อันนี้เวลาโดยรวมจะช้ากว่า แต่เราสามารถซื้อ Enoshima Kamakura Free Pass ราคา 1,520 เยนมาใช้ได้ (สำหรับไปกลับ Shinjuku-Kamakura หนึ่งรอบ และนั่งรถราง Enoden ไม่จำกัดเที่ยว) ถ้าแพลนจะเที่ยวหลายๆจุด ผมขอแนะนำวิธีที่ 2 มากกว่าครับ

เว็บไซต์

Back To Index

2. ย่านการค้าหน้าศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกู

อันนี้ไม่เกี่ยวกับวัดและศาลเจ้า แต่อยากแนะนำเพิ่มเติมครับ คือจริงๆแล้วก่อนที่จะถึงศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกู จะมีถนนย่านการค้าให้เดินชอปปิ้งกันด้วยนะครับ ย่านการค้านี้จะอยู่ใกล้ๆกับสถานีรถไฟครับ

ร้านที่น่าสนใจในย่านนี้ก็มีมากมาย เช่น ร้านถั่วทอด ซึ่งจะมีถั่วทอดหลากหลายรส เช่น รสชีส รสขาเขียว ฯลฯ

ร้านดังโงะที่คนต่อคิวเยอะมาก

พุดดิ้งรสเข้มข้น อันนี้ผมลองแล้ว ให้สามผ่านครับ! ใครมีโอกาสได้ไปต้องลอง!

ร้านไอศกรีมชาเขียว อันนี้จะมีระดับความเข้มข้นหลายเลเวล คล้ายกับร้านดังแถวๆวัดอาซากุสะ ว่าแล้วก็ต้องลองเลเวลสูงสุดดูหน่อยแล้ว!

โอ้โห ข้นมากกกกกกกกก คือถ้าเป็นสายชาเขียวคงสะใจเลยล่ะครับ แต่ถ้าไม่ใช่ ขอเตือนก่อนว่าอย่าเลยจะดีกว่า (ผมเองไม่มีปัญหา เพราะชอบชาเขียวอยู่แล้ว แต่มันข้นมากจน…จะว่าไงดี คนไม่ชอบชาเขียวต้องบ่นว่าขมเกินไปแน่ๆน่ะครับ 555)

สำหรับคนรักสัตว์ ที่นี่มีคาเฟ่หมาชิบะด้วยนะครับ

คาเฟ่นกฮูกก็มี อันนี้ไม่จำกัดเวลาด้วยนะ

ข้อมูลของย่านการค้าหน้าศาลเจ้าสึรุงะโอกะ ฮาจิมังกู

ที่อยู่

Kamakura komachi-dori street
1-5-6 Komachi, Kamakura City, Kanagawa Prefecture 248-0006

วันและเวลาทำการ

ร้านค้าส่วนมากเปิดให้บริการตั้งแต่ 10:00 – 19:00 น.

ค่าเข้าชม

ไม่มีค่าเข้าชม

การเดินทาง

เดินจากสถานีรถไฟ Kamakura ประมาณ 3 นาที

สำหรับการเดินทางมายังสถานี Kamakura นั้น หากเราเดินทางมาจากสถานี Shinjuku ในโตเกียว ให้นั่งรถไฟ JR สาย Yokosuka หรือรถไฟ JR สาย Shonan Shinjuku (ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 940 เยน)

หรือหากใช้รถไฟ Odakyu ให้นั่งรถไฟไปลงที่สถานี Fujisawa (ใช้เวลา 1 ชั่วโมง) แล้วเปลี่ยนไปนั่งรถราง Enoden โดยนั่งไปจนสุดสาย (ใช้เวลา 30 นาที) อันนี้เวลาโดยรวมจะช้ากว่า แต่เราสามารถซื้อ Enoshima Kamakura Free Pass ราคา 1,520 เยนมาใช้ได้ (สำหรับไปกลับ Shinjuku-Kamakura หนึ่งรอบ และนั่งรถราง Enoden ไม่จำกัดเที่ยว) ถ้าแพลนจะเที่ยวหลายๆจุด ผมขอแนะนำวิธีที่ 2 มากกว่าครับ

Back To Index

3. วัดฮาเซเดระ

วัดฮาเซเดระ เป็นวัดพุทธสายโจโดที่สร้างขึ้นในปี 736 วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานของเจ้าแม่กวนอิม 11 หน้า (Eleven-faced Kannon) ที่แกะสลักจากไม้ศักดิ์สิทธิ์ ตัวรูปปั้นทำจากไม้แกะสลักที่มีความสูงถึง 9.18 เมตร นับว่าเป็นหนึ่งในรูปปั้นแกะสลักที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น (เขาห้ามถ่ายรูปนะครับ ต้องหาโอกาสไปชมกันเอง)

เมื่อเข้ามาภายในวัดฮาเซเดระ เราจะเจอกับสวนเมเปิลและบ่อปลาคาร์ฟที่มีความสวยงามเป็นพิเศษในช่วงใบไม้เปลี่ยนสี (ตามรูปร่วงไปเยอะแล้ว เหลือแค่นิดหน่อยเอง)

อาคารสักการะเทพเบนไซเตน (เงินทอง, ดนตรี) สำหรับที่มาของเทพเบนไซเตน สามารถอ่านเพิ่มได้ที่บทความนี้นะครับ > สักการะเทพเบนไซเตนและชมไฟสวยๆที่เอโนชิมะ

ตรงนี้เป็นรูปสักการะของเทพไดโกกุเตน ซึ่งที่จริงคือเทพโอคุนินูชิของศาลเจ้าอิซุโมะ จ. ชิมาเนะ หรือเทพแห่งความรักนั่นแหละครับ

อ่านเรื่องของศาลเจ้าอิซุโมะเพิ่มเติมได้ที่นี่ > ได้เวลาลงจากคาน บอกลาความนก! เมื่อเทพเจ้ามาช่วยหาเนื้อคู่ให้ที่ ‘ศาลเจ้าอิซุโมะ’ ศาลเจ้าสุดปังด้านความรักความสัมพันธ์

 

เพียงแต่เทพไดโกกุเตนนี้ นอกจากจะเป็นเทพโอคุนินูชิแล้ว ก็ยังเป็นเทพที่ฟิวชั่นพระวิษณุของทางฮินดูเข้ามาด้วย ส่วนมากคนจะมาลูบรูปปั้นเพื่อขอเรื่องค้าขาย ขอให้ดวงเฮง รวมถึงเรื่องความรักกัน

บริเวณใกล้ๆกันจะเป็นถ้ำ

ข้างในถ้ำจะเต็มไปด้วยรูปสักการะของเทพเบนไซเตน

เมื่อขึ้นมาตามทางสำหรับขึ้นไปด้านบน เราจะเจอกับโซนของพระจิโซ น่ารักมุ้งมิ้งมากครับ

พระพุทธรูปในหอพระรอง อันนี้ถ่ายรูปได้ครับ

ข้างๆหอพระหลักจะมีพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่กวนอิม เป็นสถานที่ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับคำสอนของเจ้าแม่กวนอิม

อาคารหลักของวัด

จุดถ่ายรูปสวยๆของวัดฮาเซเดระแห่งนี้ จะเป็นบริเวณพระพุทธรูปในสวนกับต้นเมเปิลนี้ครับ

แผ่นป้ายหินตรงนี้ก็ถ่ายรูปสวยเช่นกัน

ชั้นวางพระสูตรที่สามารถหมุนได้ เป็นสถานที่เก็บรักษาพระคัมภีร์ที่รวบรวมไว้อย่างสมบูรณ์ ว่ากันว่าถ้าเราหมุนชั้นวางก็จะเทียบเท่ากับได้อ่านพระคัมภีร์ทั้งหมด

จุดชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวของเมืองคามาคุระได้โดยรอบ สวยงามมากๆครับ

ข้อมูลของวัดฮาเซเดระ

ที่อยู่

Hase Temple (Hasedera)
3-11-2 Hase, Kamakura City, Kanagawa Prefecture 248-0016 Japan

โทร

0467-22-6300

แฟ็กซ์

0467-22-6303

วันและเวลาทำการ
  • เดือนมีนาคม – กันยายน : วัดเปิดให้เข้าสักการะในเวลา 8:00 – 17:30 น.
  • เดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ : วัดเปิดให้เข้าสักการะในเวลา 6:00 – 20:30 น.
ค่าเข้าชม
  • ผู้ใหญ่ : 400 เยน
  • เด็ก : 200 เยน
การเดินทาง

จากสถานีรถไฟ Kamakura หรือสถานี Fujisawa ให้นั่งรถราง Enoden ไปลงที่สถานี Hase แล้วเดินจากสถานีไปที่วัด โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที

สำหรับการเดินทางมายังสถานี Kamakura นั้น หากเราเดินทางมาจากสถานี Shinjuku ในโตเกียว ให้นั่งรถไฟ JR สาย Yokosuka หรือรถไฟ JR สาย Shonan Shinjuku (ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 940 เยน)

หรือหากใช้รถไฟ Odakyu ให้นั่งรถไฟไปลงที่สถานี Fujisawa (ใช้เวลา 1 ชั่วโมง) แล้วเปลี่ยนไปนั่งรถราง Enoden โดยนั่งไปจนสุดสาย (ใช้เวลา 30 นาที) อันนี้เวลาโดยรวมจะช้ากว่า แต่เราสามารถซื้อ Enoshima Kamakura Free Pass ราคา 1,520 เยนมาใช้ได้ (สำหรับไปกลับ Shinjuku-Kamakura หนึ่งรอบ และนั่งรถราง Enoden ไม่จำกัดเที่ยว) ถ้าแพลนจะเที่ยวหลายๆจุด ผมขอแนะนำวิธีที่ 2 มากกว่าครับ

เว็บไซต์

Back To Index

4. วัดโคโตคุอิน

วัดโคโตคุอิน เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองแดงที่มีความสูง 11.35 เมตร และหนัก 121 ตัน (สำหรับพระพุทธรูปปางนั่งขัดสมาธิ พระพุทธรูปของวัดนี้นับว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศญี่ปุ่น รองจากหลวงพ่อโตที่นาระ)

การก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ดังนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1252 และยังคงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ช่วงเวลาที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ก็คือปี 1238 ครับ

นอกจากนี้ ต่อมาในปี 1923 ฐานพระพุทธรูปได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของภูมิภาคคันโต จึงได้มีการเสริมฐานให้แข็งแรงขึ้นด้วย

ปัจจุบันองค์พระพุทธรูปตั้งอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง แต่ในอดีตพระพุทธรูปองค์นี้เคยตั้งอยู่ในห้องโถงพิเศษที่มีหลังคา แต่โถงอาคารถูกทำลายลงในช่วงศตวรรษที่ 14 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและไฟไหม้

เราสามารถเข้าไปชมภายในองค์พระได้ด้วยนะครับ (มีค่าเข้าชมเพิ่มเติม 20 เยนนะครับ)

ก่อนเดินทางกลับเมื่อซื้อเครื่องรางประจำวัด ผมลองถามคนขายดูว่าอันไหนดี เขาบอกว่าอันในรูปนี้ดีครับ เพราะสามารถขอพรได้กว้างๆ ขอได้หลายเรื่อง เป็นเครื่องรางที่ช่วยให้สมปรารถนา ราคาไม่แพงด้วยนะ

ข้อมูลของวัดโคโตคุอิน

ที่อยู่

Kotokuin Temple
4-28 Hase, Kamakura City, Kanagawa Prefecture 248-0016 Japan

โทร

0467-22-0703

วันและเวลาทำการ
  • เดือนเมษายน – กันยายน : เปิดให้เข้าสักการะเวลา 8:00 – 17:30 น.
  • เดือนตุลาคม – มีนาคม : เปิดให้เข้าสักการะเวลา 8:00 – 17:00 น.
ค่าเข้าชม
  • ผู้ใหญ่ : 300 เยน
  • เด็กอายุ 6 – 12 ปี : 150 เยน
  • ค่าเข้าชมภายในองค์พระ : 20 เยน
การเดินทาง

จากสถานีรถไฟ Kamakura หรือสถานี Fujisawa ให้นั่งรถราง Enoden ไปลงที่สถานี Hase แล้วเดินจากสถานีไปที่วัด โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที

สำหรับการเดินทางมายังสถานี Kamakura นั้น หากเราเดินทางมาจากสถานี Shinjuku ในโตเกียว ให้นั่งรถไฟ JR สาย Yokosuka หรือรถไฟ JR สาย Shonan Shinjuku (ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 940 เยน)

หรือหากใช้รถไฟ Odakyu ให้นั่งรถไฟไปลงที่สถานี Fujisawa (ใช้เวลา 1 ชั่วโมง) แล้วเปลี่ยนไปนั่งรถราง Enoden โดยนั่งไปจนสุดสาย (ใช้เวลา 30 นาที) อันนี้เวลาโดยรวมจะช้ากว่า แต่เราสามารถซื้อ Enoshima Kamakura Free Pass ราคา 1,520 เยนมาใช้ได้ (สำหรับไปกลับ Shinjuku-Kamakura หนึ่งรอบ และนั่งรถราง Enoden ไม่จำกัดเที่ยว) ถ้าแพลนจะเที่ยวหลายๆจุด ผมขอแนะนำวิธีที่ 2 มากกว่าครับ

เว็บไซต์

อ่านบทความอื่นๆเกี่ยวกับจังหวัดคานากาวะ

 

Back To Top