fbpx

เลี้ยงลูกตามหลักสุภาษิตญี่ปุ่น : จิตวิญญาณของเด็กวัย 3 ขวบจะอยู่ตราบจน 100 ปี

ม.ค. 28, 2020

จิตวิญญาณของเด็กวัย 3 ขวบจะอยู่ตราบจน 100 ปี

ทุกคนเคยได้ยินสุภาษิตญี่ปุ่นเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกวัยเด็กของคนญี่ปุ่นนี้กันรึเปล่าคะ

三つ子の魂百まで (mitsugo no tamashii hyaku made มิทซึโกะ โนะ ทะมะชี่ เฮียะกุ มะเดะ)

หรือ ‘จิตวิญญาณของเด็กวัย 3 ขวบจะอยู่ตราบจน 100 ปี’

เรามาดูความหมายกันเลย

ความหมายของสุภาษิต ‘จิตวิญญาณของเด็กวัย 3 ขวบจะอยู่ตราบจน 100 ปี’

  • เน้นให้ความสำคัญอย่างมากในการเลี้ยงลูกจนถึงอายุ 3 ขวบ เพราะคำสอนเหล่านั้นจะส่งผลต่อตัวลูก แม้อายุจะล่วงเลยไปถึง 100 ปีแล้วก็ตาม
  • พื้นฐานนิสัยจิตใจที่ถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นในช่วงวัยเด็ก (ช่วงวัย 3 ขวบ) จะคงอยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม (แม้จะอายุ 100 ปีก็ตาม)

ถ้าลองแบ่งแยกคำศัพท์ของสุภาษิตนี้ก็จะแบ่งได้ 3 คำหลักๆ คือ

【三つ子 (みつご มิทซึโกะ)】 แปลว่าเด็ก 3 ขวบ สื่อถึงช่วงวัยเด็ก ความหมายไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะช่วงอายุ 3 ขวบเท่านั้น

【魂 (たましい ทะมะชี่)】 แปลว่าจิตวิญญาณ ซึ่งความหมายจะรวมถึงจิตใจและความรู้ที่มีอยู่ในจิตวิญญาณนี้ด้วย

【百 (ひゃく เฮียะกุ)】 แปลว่าหนึ่งร้อย หมายถึงอายุจนถึง 100 ปี ทั้งนี้ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นอายุ 100 ปี แต่สื่อถึงว่าพื้นฐานนิสัยนั้นจะยังคงอยู่ตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

เมื่อพ่อแม่เข้าใจความหมายของสุภาษิตนี้แล้ว ต่อไปก็คงต้องคิดกันว่าแล้วจะเลี้ยงลูกอย่างไร จะให้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน หรือจะหยิบยื่นสิ่งไหนให้เขาดี ซึ่งชุฟุจังมีข้อความที่อ้างอิงมาจากบทความในเว็บไซต์ goodluckjapan.com ซึ่งเขียนแนะนำสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ควรกระทำในการเลี้ยงลูก นั่นคือ การเลี้ยงลูกให้รู้สึกยอมรับคุณค่าในตัวเอง (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 自己肯定感 じここうていかん จิโกะโควเทอิกัง)

สำหรับบทความนี้ ชุฟุจังขอแนะนำ 10 วิธีเลี้ยงลูกแบบฉบับคนญี่ปุ่นให้สอดคล้องกับสุภาษิตญี่ปุ่น เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้อ่านเป็นเกร็ดความรู้ในการเลี้ยงลูกนะคะ

10 วิธีเลี้ยงลูกแบบฉบับคนญี่ปุ่น

1.การให้ลูกรู้สึกยอมรับในตัวเองในช่วงวัยเด็กนั้นจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนไปตลอดชีวิต

สิ่งที่พ่อแม่ควรปฏิบัติในการเลี้ยงลูกในวัยเด็กก็คือ การให้ลูกรู้สึกยอมรับในตัวเอง เพราะการที่เด็กๆได้มีความท้าทายในการทำสิ่งต่างๆและได้ก้าวไปทำสิ่งใหม่ๆนั้น จะต้องมีรากฐานมาจากความรู้สึกยอมรับในตัวเองเสียก่อน นอกจากนี้เวลาที่เด็กพบเจอกับอุปสรรคอะไรสักอย่าง ความมั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะข้ามผ่านและเดินหน้าต่อไปได้

เด็กที่ไม่สามารถยอมรับในตัวเองได้นั้น เวลาที่ต้องท้าทายหรือเผชิญกับบางสิ่งบางอย่างก็จะรู้สึกไม่ชอบ ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เมื่อต้องทำอะไรสักอย่างก็จะรู้สึกเหมือนอยู่ในสภาพที่อึดอัดใจและอยากจะหลีกหนี

การที่จะให้ลูกมีความรู้สึกยอมรับในตัวเองก็คือ เวลาที่ลูกอยากให้เราอุ้ม เด็กจะรู้สึกมีความอุ่นใจที่มีคนอยู่ใกล้ๆ ยอมรับการมีตัวตนของเขา ถึงแม้จะมองว่าเป็นการเอาแต่ใจตัวเองของเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็ควรตอบสนองอย่างเต็มที่โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ

จุดนี้จะส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองและการรู้สึกยอมรับในตัวเองของเด็กได้

ชุฟุจังเองก็มองว่าการสัมผัสกับลูกมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการกอด อุ้ม หอมแก้ม ลูบหัว หรือการสัมผัสต่างๆ และคอยชมให้กำลังใจเวลาที่เขาทำสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองและยอมรับคุณค่าในตัวเองได้

2.ให้ลูกได้สัมผัสกับผู้คนที่หลากหลาย

การใช้ชีวิตโดยได้รับความรักจากแม่อย่างใกล้ชิดนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็มีเรื่องที่ต้องระวังด้วย เนื่องจากในช่วงวัยเด็กปฏิสัมพันธ์ที่จำกัดอยู่แค่ในวงครอบครัวจะทำให้บุคลิกนิสัยถูกสร้างขึ้นในโลกแคบ

ฉะนั้นควรให้ลูกได้สัมผัสกับคนดีๆ โดยคนดีที่ว่านี้เป็นดังนี้

  • คนที่เปิดใจเริ่มจากตัวเองก่อน หมายถึง คนที่เริ่มแนะนำตัวเองก่อน
  • คนที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมหรือการแสดงออกของเด็กๆได้อย่างดี

สรุปว่าเราที่เป็นพ่อแม่ควรให้ลูกได้รู้จักและสัมผัสกับผู้คนที่หลากหลาย เพราะนั่นเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างบุคลิกนิสัยที่ดีของเด็กได้

3.การอ่านหนังสือให้ลูกฟังในช่วงวัยเด็กมีผลต่อพัฒนาการสมอง

การอ่านให้ฟังหรือ 読み聞かせ (yomikikase) เป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากมีผลอย่างมากต่อพัฒนาการสมองของเด็ก

และในช่วงจนถึงวัย 3 ขวบ (ตามหลักสุภาษิต 三つ子の魂百まで หรือจิตวิญญาณของเด็ก 3 ขวบจะอยู่ตราบจน 100 ปี) สมองของเด็กจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมากๆ

ช่วงแรกเด็กยังไม่สามารถออกเสียงคำได้อย่างถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงแล้วภายในสมองกำลังทำความเข้าใจกับคำศัพท์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ใช่การรับรู้จากการฟังเพียงอย่างเดียว แต่ยังรับรู้จากการมองเห็นอีกด้วย

ฉะนั้นเด็กจะเรียนรู้คำจากลักษณะน้ำเสียงและวิธีการอ่าน อีกทั้งยังเรียนรู้อารมณ์รู้สึกจากการอ่านให้ฟังด้วย

นอกจากนี้การอ่านหนังสือที่เด็กชอบให้เขาฟังซ้ำไปซ้ำมาก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน

ยกตัวอย่าง ถ้าลูกตื้อขอให้เราอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำไปซ้ำมา แม้ว่าเขาจะจำเรื่องราวในหนังสือได้แล้วก็ตาม พ่อแม่ก็ควรตอบสนองให้ลูกเท่าที่จะทำได้ เพราะการที่เด็กได้สัมผัสกับเรื่องราวเดิมๆที่ตัวเองรู้ จะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยสบายใจและทำให้จิตใจผ่อนคลายได้

ซึ่งในการเลี้ยงลูกช่วงวัยเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีพื้นฐานนิสัยจิตใจเข้มแข็งนั้น เราควรกระตุ้นพัฒนาการสมองที่ทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจมากๆเข้าไว้

4.รู้ความแตกต่างของนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด

นิสัยของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ทำให้เด็กทุกคนมีความชอบที่ต่างกันด้วย

เด็กบางคนอาจจะชอบเล่นนอกบ้าน บางคนอาจไม่ชอบเล่นนอกบ้าน เด็กบางคนอ้อนพ่อบ่อยๆ เด็กบางคนอ้อนแม่บ่อยๆ ซึ่งก็แตกต่างกันไปแล้วแต่คน

ไม่ว่าจะเป็นเด็กนิสัยแบบไหน ก่อนอื่นเราควรรู้นิสัยในแบบของเขาและไม่ยัดเยียดบังคับให้เป็นในแบบสังคมทั่วไปสรุปกัน

5.คอยเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆ ไม่ควรเข้าไปยุ่งหรือยื่นมือเข้าไปทำแทนลูกเท่าที่จะเป็นไปได้

เด็กๆมักจะทำอะไรตามที่ตัวเองสนใจ

และมีบางครั้งที่เด็กหันไปสนใจสิ่งอื่นในขณะที่กำลังทำสิ่งหนึ่งอยู่ บางครั้งก็ล้มเลิกความตั้งใจเมื่อทำสิ่งนั้นไม่ได้ไปเฉยๆ

ตอนนั้นพ่อแม่ก็เผลออยากจะเข้าไปยุ่งกับสิ่งที่ลูกทำใช่ไหมล่ะคะ แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ภาพของลูกสาว มาริสะจังในวัย 3 ขวบ ตอนไปเที่ยวฟาร์มวัวแถวอะโสะ จังหวัดคุมาโมโตะ

ก่อนอื่น เราควรมองดูลูกอยู่ห่างๆโดยไม่เข้าไปยุ่ง ถึงแม้เขาจะทำผิดพลาดหรือทำอะไรช้าไป เราก็ควรคอยอยู่เคียงข้างลูกจนกว่าจะถึงจุดหมายของเขา เสร็จแล้วในตอนท้ายเราจึงค่อยแก้ไขให้ถูกต้อง

ซึ่งการที่ในวัยเด็กถ้าพ่อแม่เผลอทำให้ลูกหมดทุกอย่าง เมื่อโตขึ้นลูกก็จะกลายเป็นคนที่ไม่สามารถทำสิ่งใดจนสุดทางด้วยตัวคนเดียวได้ และเวลาเจออุปสรรคก็จะคอยหาคนช่วยเหลืออยู่ตลอด

ฉะนั้น ถึงแม้ว่าเด็กจะยังทำไม่ได้ก็ต้องลองให้เขาทำดู แบบนี้ถ้าเติบโตขึ้นเด็กจะกลายเป็นคนที่มีความจิตใจท้าทาย กล้าลองทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง

6.บอกความหมายของสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร

เด็กๆจะมีความสนใจต่อสิ่งรอบตัวและพยายามจะลองทำสิ่งต่างๆ ซึ่งบางครั้งสิ่งนั้นอาจเป็นเรื่องอันตรายหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

ในตอนนั้นเราไม่ควรดุโกรธว่า「やめなさい(yamenasai ยะเมะนะไซ)หยุดทำนะ」หรือ「ダメ(dame ดะเมะ)อย่านะ/ไม่ได้นะ」

สิ่งสำคัญคือเหตุผลที่ว่าทำไมถึงห้ามไม่ให้ทำ ทำไมถึงทำไม่ได้ จุดนี้เป็นเรื่องที่ต้องสื่อความหมายให้ลูกๆเข้าใจ

ในตอนนั้นเด็กๆจะยอมรับความหมายที่พ่อแม่บอกกล่าว และจะไม่ทำเรื่องที่ตัวเองเข้าใจแล้วนั้นอีก

แต่การที่แค่ดุด่าโดยที่เด็กยังไม่ยอมรับหรือยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำไม่ได้จะยิ่งทำให้เด็กทำเรื่องเดิมๆซ้ำไปซ้ำมาอีก

ฉะนั้นเราควรบอกความหมายของสิ่งที่ห้ามอย่างชัดเจนเพื่อให้ลูกเข้าใจ โดยอย่าเพิ่งไปคิดว่าถึงจะพูดบอกออกไปแล้วเด็กก็คงไม่เข้าใจหรอก

7.ให้ลูกเล่นผจญภัยอย่างอิสระ

เล่นทรายมันสกปรก ไม่ได้นะ! ปีนต้นไม้มันอันตราย ไม่ได้นะ! เล่นหิมะเดี๋ยวจะเป็นหวัด ไม่ได้นะ!

ที่บ้านใครเต็มไปด้วยกฎระเบียบเหล่านี้หรือเปล่าคะ

ถ้าเจอกฎระเบียบแบบนี้ตั้งแต่วัยเด็ก จะทำให้เด็กคนนั้นเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความอยากรู้อยากเห็นและขาดความกล้าแสดงออก

ที่มา : http://www.terao.ed.jp/feature/

ในช่วงวัยเด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งต่างๆรอบตัว การคิดและเรียนรู้จากการได้สัมผัสสิ่งต่างๆด้วยตัวเองถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ทำอะไรเลอะเทอะ การต้องอดทนกับบางสิ่ง หรือแม้แต่ตอนเป็นหวัดก็ตาม เด็กๆจะได้รู้ว่าทำอย่างนี้แล้วจะเป็นแบบไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเองโดยตรง

แต่หากความอยากรู้อยากเห็นนั้นไม่ได้ถูกเติมเต็มตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก และยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในวันข้างหน้าเด็กก็จะไม่เกิดความสนใจต่อสิ่งรอบตัว

และแม้ว่าจะถึงช่วงอายุที่รู้จักแยกแยะสิ่งดีหรือไม่ดีด้วยตัวเองแล้วก็ตาม ลูกก็จะไม่สามารถแยกแยะได้ เนื่องจากขาดทักษะเรื่องความคิดและความกล้าแสดงออก

ฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือการให้เด็กได้ทำสิ่งต่างๆอย่างอิสระในช่วงวัยเด็กนั่นเอง

8.ไม่เอ่ยว่าเชิงปฎิเสธขึ้นมาก่อน

เวลาเด็กทำสิ่งไม่ดีหรือทำอะไรผิด เวลาที่เขาเสนออะไรขึ้นมาบางอย่าง เวลาที่เขาพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด ไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตาม เราไม่ควรที่จะเอ่ยปฏิเสธสิ่งนั้นในทันที

ถ้าอยู่ๆเราพูดเชิงปฏิเสธโดยไม่ถามเหตุผลก่อน เช่น “ダメ(ดะเมะ) แปลว่า ไม่ได้นะ” “違う(จิกะอุ) แปลว่า มันไม่ใช่นะ” “あなたは間違っている。(อะนะตะ วะ มะจิกัตเตะอิหรุ) แปลว่า เธออ่ะผิดนะ” เด็กก็คงจะพูดอะไรนอกเหนือจากนี้ไม่ออก

ถ้าเจอแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะกลายเป็นว่าลูกไม่สามารถพูดความคิดเห็นของตัวเองออกมาได้

แล้วแบบนี้เราควรทำอย่างไรกันดีล่ะ?

เบื้องต้นเราควรรับฟังเด็กอย่างใจเย็นก่อน แล้วจึงถามเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ จากนั้นก็ค่อยบอกหรือสอนสิ่งที่ถูกต้องหลังจากฟังเหตุผลของเด็กจนจบแล้ว

『เข้าใจแล้ว เป็นอย่างนี้นี่เอง แต่ว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนั้นแล้วลูกทำแบบนี้ก็จะเป็นวิธีที่ดีนะจ๊ะ』

ความรู้สึกที่ตัวเองไม่ถูกปฏิเสธนั้นเชื่อมโยงกับความมั่นใจในตัวเองของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นใจในการแสดงความคิดของตัวเองได้

9.มองในระดับเดียวกับที่ลูกมอง

สิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกก็คือ การมองในระดับเดียวกับเด็ก

สถานะพ่อแม่กับลูกหรือผู้ใหญ่กับเด็กเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็จริง แต่หากเลี้ยงลูกโดยเชื่อมความสัมพันธ์กันแบบนี้ก็อาจทำให้ลูกไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำแบบนั้นหรือรู้สึกแบบนั้นได้ และเมื่อไม่มีจุดที่เข้าใจตรงกัน ต่อไปเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะกลายเป็นคนที่ไม่เชื่อถือไว้ใจคนอื่น

ก่อนอื่น เราควรลองคิดในฐานะที่เป็นเด็กดูบ้าง เมื่อมองในระดับเดียวกับลูกเราก็จะเห็นและเข้าใจอะไรมากขึ้น จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก

เมื่อถึงเวลาเล่นก็เล่นเต็มที่กับลูก ไม่ต้องคิดแยกว่าฉันเป็นผู้ใหญ่แล้ว เล่นให้สุดๆไปเลย

เวลาแข่งแพ้ชนะกันก็แข่งกันเต็มที่โดยไม่ต้องอ่อนข้อให้

ถึงจะเป็นพ่อแม่ ถึงจะเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจเด็กจะรู้สึกอุ่นใจที่พ่อแม่เข้าใจความรู้สึกเขาอยู่เสมอ

10.ไม่ยัดเยียดความต้องการของพ่อแม่มากเกินไป

เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเป็นพ่อแม่คิดอยากให้ลูกได้ทำสิ่งที่หลากหลาย

อยากให้เรียนภาษาอังกฤษด้วย เล่นดนตรีด้วย และเป็นเด็กที่มีทักษะทางด้านกีฬาได้ด้วย พ่อแม่ก็อาจจะคิดฝันในหลายๆเรื่อง

ซึ่งแน่นอนว่าการที่ให้เด็กได้ลองสัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลายตั้งแต่วัยเด็กนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่ก็จริง แต่เราก็ต้องไม่เรียกร้องให้ลูกทำโน่นนี่มากเกินไปและไม่คาดหวังมากเกินไป เพราะอาจกลายเป็นว่าเด็กได้รับความกดดัน และแบกเอาความรู้สึกที่ว่าล้มเหลวหรือคับข้องใจติดตัวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นได้

ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ควรคาดหวังที่สุดก็คือ「การให้ลูกของเรายิ้มร่าเริงและมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง」

ลูกสาวคนโต ‘มาริสะจัง’ ในวัย 3 ขวบ 10 เดือน

ลูกชายคนเล็ก ‘โคกะคุง’ ในวัย 1 ขวบ 4 เดือน

คำศัพท์น่ารู้จากบทความ

  • 格言 (かくげんkakugen คะกุเกง) สุภาษิต
  • 幼少期(ようしょうき youshouki โยโชวคิ)ช่วงวัยเด็ก
  • 原動力(げんどうりょく gendouryoku เกงโดโระกุ)พลังขับเคลื่อน
  • 様々な人と触れ合う(さまざまなひととふれあう samazamana hito to fureau สะมะซะมะนะ ฮิโตะ โตะ ฟุเระอะอุ) สัมผัสกับผู้คนที่หลากหลาย
  • 自己肯定感 (じここうていかん jiko kouteikan จิโคะโคเทคัง) ความรู้สึกยอมรับในตัวเอง ความรู้สึกยอมรับคุณค่าตัวเอง
  • 自閉症 (じへいしょう jiheishou จิเฮอิโชว) ออทิสติก
  • 手加減 (てかげん tekagen เทะคะเงง) ยอมอ่อนข้อ
  • お父さんによく懐く子供(おとうさんによくなつくこども otousan ni yoku tatsuku kodomo โอะโต้ซัง นิ โยะคุ นะทสึคุ โคะโดะโมะ) เด็กที่อ้อนคุณพ่ออยู่บ่อยๆ
  • 発想力 (はっそうりょく hassouryoku ฮัซโซโระกุ)ทักษะความกล้าแสดงออก

ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านค่ะ แล้วมาติดตามวิถีชีวิตแม่บ้านในญี่ปุ่นและความรู้ภาษาญี่ปุ่นนอกตำราจากชุฟุจังกันใหม่ในบทความหน้านะคะ

ติดตาม Shufuchan ชุฟุจัง

เพจแม่บ้านญี่ปุ่นสบายๆ สไตล์ชุฟุจัง

นำเสนอเกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อพูดสื่อสารได้

http://www.facebook.com/wifeinjapan

เพจลั๊นลาภาษาแม่บ้านเจแปน

ไลฟ์สไตล์วิถีชีวิตแม่บ้านลูกสองของชุฟุจัง

http://www.facebook.com/mamapapainjapan

Youtube

กด Subscribe ติดตามคลิปภาษาญี่ปุ่น

https://www.youtube.com/user/phuuhp

เว็บไซต์

https://www.shufuchan.com/

Line@ ติดตามข่าวสารคอร์สภาษาญี่ปุ่นนอกตำรา

https://line.me/R/ti/p/%40ask5447p