fbpx

10 แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ (คนญี่ปุ่นคอนเฟิร์ม!)

พ.ค. 27, 2024

10 แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ

สวัสดีค่ะเพื่อนๆทุกคน วันนี้ fromJapan ก็มาพร้อมข้อมูลน่าสนใจอีกเช่นเคย โดยในวันนี้จะเป็นหัวข้อ 10 แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ 

ทุกคนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดและข้อปฏิบัติต่างๆที่คนญี่ปุ่นส่งต่อกันมาหลายรุ่นตั้งแต่ช่วงยุคโชวะ แต่สิ่งเหล่านั้นกลับไม่สามารถใช้ได้แล้วยุคปัจจุบัน อ้าว!

แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ

เพื่อนๆอยากรู้กันแล้วใช่ไหมคะ ว่าในยุคสมัยใหม่ของญี่ปุ่นนี้อะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง หากพร้อมแล้วเราไปชมกันได้เลยค่ะ 👇

👍 😘 👍 😘 👍

1. “คุณต้องทนทำงาน แม้จะอยากลาออกแค่ไหนก็ตาม!”

เมื่อพูดถึงคนญี่ปุ่น สิ่งที่เด้งเข้ามาในหัวทุกคนเลยน่าจะเป็นชื่อเสียงในเรื่อง การทำงานหนัก ถูกต้องไหมคะ?

คนญี่ปุ่นต่างเชื่อกันว่าการลาออกจากงานเร็วเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก เหมือนเราไม่มีความอดทนมากพอ จนถึงขนาดมีบอกกันเลยว่าควรทำงานอย่างน้อย 2 – 3 ปีแล้วถึงจะลาออกได้

แต่ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นสมัยใหม่หลายคนไม่คิดอย่างนั้นค่ะ พวกเขาคิดว่าการที่ต้องทนอยู่กับงานที่ไม่ใช่ หรือสังคมที่ไม่เข้ากันกับเรานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควร ดังนั้นคนในยุคนี้จึงสนับสนุนให้ทุกคนเลือกหนทางหางานใหม่ในทันที หากรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่ใช่ทางของตน

2. “การออกไปสังสรรค์ช่วยให้สนิทและสามัคคีกันมากขึ้น”

ใครชอบปาร์ตี้คงไม่มีปัญหากับข้อนี้ แต่อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้มันเก่ามากแล้วค่ะ มันก็จริงที่การพูดคุยระหว่างที่ดื่มไปด้วย สังสรรค์ไปด้วยช่วยให้คนเราเปิดใจให้กันมากขึ้น

แต่หลายๆคนก็ไม่ได้แฮปปี้กับเรื่องเหล่านี้ใช่ไหมละคะ แล้วในยุคนี้เราก็ต่างตระหนักแล้วว่าการดื่มสุราหรือการจัดปาร์ตี้ดื่มกินก็ไม่ใช่เพียงวิธีเดียวที่จะสร้างความสามัคคีหรือความสนิทสนมได้

ชาวญี่ปุ่นได้เรียนรู้ว่าการจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมีได้หลายวิธีการ ยิ่งสมัยนี้มีอินเตอร์เน็ตด้วยแล้ว วิธีที่จะทำให้เกิดความสามัคคีก็หลากหลายขึ้นนั่นเองค่ะ

3. “มันน่าละอายใจ ถ้าเราจะยอมแพ้กลางคัน”

คนญี่ปุ่นเคยเชื่อว่าการล้มเลิกอะไรกลางคันเป็นเรื่องที่ไม่น่ายกย่องเอาเสียเลยค่ะ แต่ในปัจจุบันความคิดนั้นก็ได้เปลี่ยนไป (จากปัญหาทางสุขภาพจิตที่ญี่ปุ่นเผชิญมามากมาย)

กลายเป็นว่าคนญี่ปุ่นยุคใหม่คิดว่าบางครั้งเราก็ต้องกล้าหาญที่จะเปลี่ยนทิศทางการกระทำของตนเอง การยอมแพ้ไม่ใช่เรื่องน่าละอายแต่เป็นโอกาสที่จะได้ค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆนั่นเอง

4. “ฉันควรจะเข้ากับทุกคนได้”

มันยากที่จะเข้ากับทุกคนในที่ทำงานหรือโรงเรียนใช่ไหม? ดังนั้นคนญี่ปุ่นสมัยใหม่จึงคิดกันว่าการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนที่มีคุณภาพและมีความชอบในทิศทางเดียวกันกับคุณเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าค่ะ

ถึงแม้ว่าคุณจะเข้าสังคมไม่เก่งแต่ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้เข้ากับคนอื่นได้ สิ่งสำคัญคือต้องเห็นคุณค่าในตัวเองและคุณค่าของผู้อื่นนะ

5. “ฉันต้องทำตามสิ่งที่เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานอาวุโสบอก”

แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ

ความคิดเห็นของผู้บังคับบัญชาหรือผู้อาวุโสอาจเป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องอย่าลืมใช้วิจารณญาณของตัวเองด้วยนะคะ

ยิ่งในโลกธุรกิจที่เกิดเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามกาลเวลา เราจึงจำเป็นต้องมีแนวคิดใหม่ๆและมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานต่างๆ คนญี่ปุ่นในปัจจุบันจึงเชื่อว่าองค์กรที่มีวิสัยทัศน์จะต้องมีความยืดหยุ่นและรับฟังความคิดเห็นของพนักงานที่อาวุโสน้อยกว่าด้วยค่ะ

6. “งานบ้านและการดูแลเด็กเป็นงานของผู้หญิง”

แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ

ในอดีต ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่า งานบ้านเป็นงานของผู้หญิง แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ผู้ชายมีส่วนร่วมในงานบ้านและการดูแลเด็กมากขึ้น ด้วยการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีรายได้แบบสองทาง และคนญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญเรื่องสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานมากขึ้น สังคมญี่ปุ่นจึงมีความยืดหยุ่นในการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในครัวเรือนมากขึ้น

ดังนั้น ผู้ชายก็สามารถทำงานบ้านและช่วยเลี้ยงลูกได้เช่นกันนะ!

7. “งานมีความสำคัญมากกว่าชีวิตส่วนตัว”

แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ

การทำงานหนักเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่คนญี่ปุ่นในปัจจุบันคิดว่าเราก็ควรจะให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัวด้วย เนื่องจากเชื่อว่าคุณสามารถทำงานได้ดี ก็ต่อเมื่อคุณมีเวลาให้กับตัวเองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง หรือการทำงานอดิเรกต่างๆ

หากคนเราใช้ชีวิตได้อย่างสมดุลทั้งเรื่องงานหรือชีวิตส่วนตัว คุณก็จะทำออกมาได้ดีทั้งสองอย่างนั่นเองค่ะ 😽

8. “ยิ่งฉันหาเงินได้มากเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น”

แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ

เงินเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนั้นค่ะ แต่เงินก็ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึงเรื่อง ความสุข ในโลกนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เงินไม่สามารถบันดาลให้เราได้ เช่น การเติมเต็มความสัมพันธ์ การทำงานที่มีคุณค่า หรือว่าจะเป็นสุขภาพที่ดี

แนวคิดในเรื่องนี้ของคนญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนจาก “การใช้เงินซื้อสิ่งที่ต้องการทำให้เรามีความสุข” ไปเป็นแนวคิดที่ว่า “การใช้ชีวิตในแบบของตัวเองจะทำให้เรามีความสุขที่สุด”

9. “เรียนรู้งานจากการดู ห้ามถาม

แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ

เมื่อก่อนคนญี่ปุ่นมีความคิดเกี่ยวกับการสอนงานว่า “จงเรียนรู้จากการดูผู้อื่น” หมายถึงการเรียนรู้งานจากผู้มีประสบการณ์มากกว่าแบบไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ แต่ตอนนี้ความคิดนั้นได้เปลี่ยนไป หลายคนแนะนำรุ่นน้องว่า “หากไม่เข้าใจให้ถาม” แทนค่ะ

ดังนั้นใครที่ทำงานกับคนญี่ปุ่น หากมีสิ่งที่คุณไม่เข้าใจ อย่าลังเลที่จะถามคำถามเลยนะคะ เพราะการถามเป็นกุญแจสำคัญในการหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด และทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังสุภาษิตของญี่ปุ่นที่กล่าวไว้ว่า “การถามแม้เป็นเรื่องน่าอาย แต่การไม่ถามนั้นเป็นเรื่องน่าละอายมากกว่า”

10. “จงเก็บเงินของคุณไว้ในธนาคาร

แนวคิดจากยุคโชวะที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคเรวะ

ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน การเก็บออมเงินก็เป็นเรื่องสำคัญค่ะ แต่ในสมัยก่อนนั้นแนวคิดหลักอย่างหนึ่งเรื่องการเก็บเงินคือความเชื่อที่ว่า การฝากเงินไว้ในธนาคารปลอดภัยที่สุด  แต่ปัจจุบันนี้มันมีหลายวิธีในการเก็บเงินที่ไม่ใช่แค่จะคงเงินเดิมไว้ แต่ยังมีแนวทางที่สามารถเพิ่มเงินให้คุณได้ด้วย เช่น การลงทุน การฝากเงินดิจิตอล หรือการสะสมเงินในรูปแบบออนไลน์อื่นๆ

ดังนั้น เราจึงควรหาวิธีจัดการสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับตัวเอง อย่างไรก็ตาม การลงทุนก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ก่อนจะลงทุนอะไรก็ต้องตรวจสอบให้ดีนะคะ 

ที่มา (Ref.) https://news.yahoo.co.jp

😊 ❤️ 😊 ❤️ 😊

จากทั้ง 10 ข้อที่เรานำมาให้อ่านกันในวันนี้ ทุกคนคนคงเห็นว่าแนวคิดบางอย่างจากยุคโชวะไม่เข้ากับสังคมสมัยใหม่อีกต่อไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่ค่านิยมที่สำคัญบางอย่างก็ยังคงอยู่ เช่น การทำงานหนัก การเอาใจใส่ผู้อื่น หรือการเก็บออมเงิน เป็นต้น

สำหรับวันนี้ fromJapan ก็หวังว่าจะได้นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยแก่ผู้ที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้านะคะ 🏯

อ่านบทความสนุกๆจาก fromJapan 

มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ!

รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!

ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ

Back To Top