ญี่ปุ่นยุคใหม่เปลี่ยนไปแล้วนะ! เรียนรู้ 7 ค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป
ต.ค. 17, 2023
เรียนรู้ 7 ค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป!
ก่อนที่เราจะไปเที่ยวต่างประเทศ หนึ่งในการเตรียมตัวที่สำคัญพอๆกับการเตรียมเอกสารการเดินทาง เสื้อผ้า หรือที่พัก คือการทำความเข้าใจในวัฒนธรรม ค่านิยม และกฏระเบียบของประเทศนั้นๆค่ะ
สำหรับ ประเทศญี่ปุ่น นั้นก็ถือว่าเป็นประเทศยอดฮิตในใจของคนไทย และแม้ว่าประเทศในทวีปเอเชียจะมีวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายคลึงกัน แต่ญี่ปุ่นก็แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในหลายๆด้านค่ะ 🎎🏯
วันนี้ fromJapan จะมาเล่าเรื่อง 7 ค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและการเข้ามาของแนวคิดสมัยใหม่ ซึ่งจะมีอะไรบ้างก็มาติดตามกันได้เลยค่ะ 🌟
สารบัญ (Index)
- 1. ค่านิยมเรื่องการแต่งงานและชีวิตคู่
- 2. ค่านิยมเรื่องการคบเพื่อน
- 3. ค่านิยมเรื่องคอนเน็กชั่น (Connection)
- 4. ค่านิยมเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงาน
- 5. ค่านิยมเกี่ยวกับการเคารพผู้อาวุโสในที่ทำงาน
- 6. ค่านิยมเรื่องความพยายาม
- 7. ค่านิยมเกี่ยวกับการบริการและการดูแลลูกค้า
1. ค่านิยมเรื่องการแต่งงานและชีวิตคู่
ในสังคมญี่ปุ่นสมัยก่อน ผู้คนมักจะเชื่อกันว่าเป้าหมายของชีวิตคู่คือ “การแต่งงาน” เพราะการแต่งงานนั้นนำมาซึ่งความสุข ทำให้ภาพลักษณ์ของการแต่งงานมักจะเกี่ยวเนื่องกับความสุขของคนเราอยู่เสมอ นั่นทำให้สิ่งที่ตรงกันข้ามอย่าง “การหย่าร้าง” เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
แต่ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นมีความคิดที่เปลี่ยนไป และมองว่าไม่ว่าจะเป็นการเลือกแต่งงานหรือหย่าร้าง หากทั้งคู่มีข้อตกลงรวมกันที่ดีก็เป็นเรื่องที่สามารถเลือกได้เพื่อความสุขของทั้งสองฝ่าย หรือแม้แต่การเลือกครองโสดก็จัดเป็นอีกทางเลือกมาแรงสำหรับคนรุ่นใหม่ค่ะ
2. ค่านิยมเรื่องการคบเพื่อน
มักจะมีคำพูดที่ว่า ‘เพื่อนสมัยมัธยมเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด’ แต่เพื่อนๆรู้ไหมคะว่าในปัจจุบันแนวคิดนั้นล้าหลังไปแล้วค่ะ คนญี่ปุ่นกลับคิดว่าการที่เราติดอยู่กับอดีต จมอยู่กับความคิดที่ว่าเพื่อนเก่านั้นดีที่สุดจะทำให้ชีวิตไม่มีความสุขค่ะ
ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับเพื่อนของคนญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้นค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้พวกเขาเริ่มเปิดใจให้กับเพื่อนที่ทำงานหรือเพื่อนที่ได้รู้จักตอนโตมากขึ้น ดังนั้นถ้าใครมีโอกาสได้เมคเฟรนด์กับคนญี่ปุ่นก็อย่ารอช้า หนทางของการได้เป็นเพื่อนซี้ปึ้กกับคนญี่ปุ่นอยู่ไม่ไกลแล้ว 😊
3. ค่านิยมเรื่องคอนเน็กชั่น (Connection)
ต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้ว ทุกคนรู้ใช่ไหมคะว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่อนข้างจริงจังกับเรื่องคอนเน็กชั่น โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นในอดีตที่เชื่อกันว่ายิ่งรู้จักคนเยอะหรือมีเพื่อนเยอะก็ยิ่งดีต่อการดำรงชีวิต เพราะเพื่อนจะคอยช่วยเหลือในด้านต่างๆนั่นเอง (จะว่าไปแล้วก็คล้ายคนไทยเลยนะ…)
แต่ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นเปลี่ยนความคิดในเรื่องนี้ไปอย่างสิ้นเชิง แม้การมีเพื่อนเยอะจะเป็นเรื่องดี แต่การคบเพื่อนแบบมีคุณภาพก็สำคัญกว่าปริมาณค่ะ (แถมบางคนยังคิดว่าการมีเพื่อนเยอะอาจนำพาปัญหายุ่งยากมาถึงตัวด้วย)
ส่วนใครที่อยากเมคเฟรนด์กับเพื่อนชาวญี่ปุ่นละก็ เรามีบทความดีๆมานำเสนอค่ะ สามารถอ่านได้ที่นี่เลย
4. ค่านิยมเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงาน
คนวัยทำงานน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าเวลาที่เราเข้าทำงานในองค์กรใหม่ เขาแนะนำให้เราทำงานอย่างน้อย 2-3 ปีเป็นขั้นต่ำก่อนจะลาออกไปที่อื่น และมักจะมองว่าคนที่เปลี่ยนงานบ่อยๆในระยะเวลาอันสั้นมักจะเป็นคนที่ไม่ทนงาน หรือที่เรียกกันว่า Job hopper ค่ะ
แต่! เขาที่ว่านั่นคือใครกันล่ะ?
ใช่แล้วค่ะ เพราะว่ามันไม่ได้มีใครมากำหนดชัดเจนในเรื่องนี้ยังไงล่ะ!
ในปัจจุบันทั้งญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆในเอเชียต่างก็มองว่า ระยะเวลาการทำงานนั้นไม่ได้สำคัญเท่าคุณภาพของงานที่เราทำไป ดังนั้นหากคุณรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะทำงานต่อแม้จะเพิ่งเข้ามาทำงาน บริษัทส่วนใหญ่ก็ล้วนเข้าใจและให้ทางเลือกแก่พนักงานว่าต้องการจะไปต่อกับบริษัทหรือไม่ 👍
5. ค่านิยมเกี่ยวกับการเคารพผู้อาวุโสในที่ทำงาน
วัฒนธรรมร่วมอย่างหนึ่งของคนเอเชียคือ “การเคารพผู้อาวุโส” โดยเฉพาะในที่ทำงาน ซึ่งผู้คนมากมายคิดว่าการเคารพผู้อาวุโสหมายรวมไปถึงการทำตนให้นอบน้อม โอนอ่อนไปตามความคิดเห็นของหัวหน้าหรือผู้อาวุโสกว่าเราในที่ทำงาน
แม้แนวคิดนี้จะยังมีอยู่ แต่คนญี่ปุ่นสมัยใหม่ต่างก็คิดกันว่าทุกคนควรมีความคิดเป็นของตัวเองด้วยค่ะ
ยิ่งในกรณีที่พบเจอเรื่องไม่ถูกต้องหรือต้องการจะเสนอความคิดเห็นใดๆที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท คนที่เป็นลูกน้องก็ควรจะออกความเห็นหรือทักท้วงเจ้านายได้เช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นลูกน้องหรือเจ้านาย เราทั้งหมดต่างก็เป็นมนุษย์เช่นกัน และสามารถทำผิดพลาดได้เหมือนกันค่ะ
6. ค่านิยมเรื่องความพยายาม
หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่นก็คงทราบกันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องความกดดันในการทำงานเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย ไม่ว่าจะลงมือทำอะไร คุณก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่และทำให้ได้ดีที่สุด!
อย่างเช่นในเรื่องการเรียนที่เหล่าผู้ปกครองก็จะคาดหวังในลูกของตัวเองได้เกรดดีๆ หรือในกรณีการทำงาน หัวหน้าก็จะคาดหวังในลูกน้องทำผลงานออกมาได้ดีตามที่คาดหวังไว้
ความกดดันอันมากมายมหาศาลนี้ส่งผลกระทบกับคนญี่ปุ่นในทุกช่วงวัยจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรญี่ปุ่นมีสถิติเป็นโรคเครียดและภาวะซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี
แต่ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นต่างก็ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิตมากขึ้น ทำให้พวกเขาค่อยๆปรับมายด์เซ็ตและพฤติกรรมต่างๆให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าและโรคเครียดค่ะ ซึ่งนั่นก็ทำให้ค่านิยมที่ต้องกดดันตัวเองให้พยายาม(มากๆๆๆ)อยู่ตลอดเวลาเริ่มลดลงด้วยเช่นกันค่ะ
7. ค่านิยมเกี่ยวกับการบริการและการดูแลลูกค้า
เชื่อหรือไม่คะว่าในญี่ปุ่นเองก็มีแนวคิดที่ว่า ลูกค้าคือพระเจ้า เหมือนกัน! 🤨
สำหรับวลี ลูกค้าคือพระเจ้า นี้มักจะหมายถึงการที่เราต้องให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะในสายงานบริการต่างๆค่ะ ซึ่งเรียกได้ว่าแทบทุกประเทศมักจะใช้คตินี้สำหรับการค้าขายและบริการต่างๆ
แต่ในปัจจุบัน แม้ว่าคนญี่ปุ่นหลายๆคนจะยังคงยึดถือว่าลูกค้าคือพระเจ้าอยู่ แต่ก็มีหลายองค์กรที่เริ่มปฏิบัติตัวต่อลูกค้าอย่างเหมาะสม(มากขึ้น) ถ้าลูกค้าเป็นฝ่ายทำผิดก็จะไม่มีการโอ๋ใดๆมากจนเกินไปค่ะ ดังนั้นใครที่คิดจะไปทำนิสัยไม่ดีใส่พนักงานที่ญี่ปุ่นก็ขอให้คิดใหม่อีกรอบนะคะ เดี๋ยวจะหาว่าเราไม่เตือน 😂
🌸🌸🌸🌸🌸🌸🌸
เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับเรื่องราวของ “7 ค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป” บทความนี้น่าจะช่วยให้เพื่อนๆเข้าใจวัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่มากขึ้น สำหรับ fromJapan เองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่มากก็น้อยค่ะ 🥹
ส่วนใครที่ยังอ่านไม่จุใจและสนใจข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติม ไม่ว่าเป็นเรื่องราวสนุกๆสุดยูนีคของญี่ปุ่นหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทุกคนสามารถอ่านบทความดีๆมากมายได้จากเว็บไซต์ fromJapan หรือกดเข้าลิงก์ด้านล่างได้เลยค่ะ 👍
ที่มา (Reference) : news.yahoo.co.jp
อ่านบทความสนุกๆจาก fromJapan 🌸
- เทพเจ้าเหมียวกับ ‘ประวัติศาสตร์แมวในญี่ปุ่น’
- ทำความรู้จัก ‘เทศกาลแห่เจ้าโลก’ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น!
- ขอพรกับ ‘ดารุมะ’ ตุ๊กตาแห่งความโชคดีของชาวญี่ปุ่น
มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ!
รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!
ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ