fbpx

ญี่ปุ่นเผชิญสังคมผู้เสียชีวิตสูง เตาเผาเต็ม ต้องรอฌาปนกิจนานถึง 12 วัน

ก.ค. 15, 2025

  • Clip

ญี่ปุ่นเผชิญสังคมผู้เสียชีวิตสูง เตาเผาเต็ม ต้องรอฌาปนกิจนานถึง 12 วัน

ในประเทศญี่ปุ่น ปัญหาการขาดแคลนเตาเผาศพกำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ มีหลายเคสที่ไม่สามารถจัดงานศพและฌาปนกิจได้ทันทีหลังจากเสียชีวิต

โดยทางด้าน ‘โฮโซกาวะ โคอิจิ’ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยสตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า “จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุ” และยิ่งไปกว่านั้น ฌาปนสถานหลายแห่งยังปิดทำการในวันโทโมบิกิ* และปิดทำการในเวลา 15.00 น. อีกด้วย

ในบทความนี้ เราจะมาเล่าถึงสาเหตุที่ทำไมญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสังคมผู้เสียชีวิตสูงจนนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนเตาเผาศพเป็นอย่างมาก ผู้คนต้อรอฌาปนกิจนานถึง 10 กว่าวัน

*วันโทโมบิกิ (友引の日) เป็นหนึ่งใน 6 วัน ของปฏิทินฤกษ์แบบญี่ปุ่น โดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นวันมงคล แต่จะไม่เหมาะกับการจัดงานศพ และต้องระวังเรื่องเวลาด้วย เพราะตั้งแต่เวลา 11.00 – 13.00 น. จะถือว่า “โชคร้าย”

ญี่ปุ่นเผชิญสังคมผู้เสียชีวิตสูง ต้องรอเตาเผาหลายวัน

จากรายงาน ‘สถิติการเปลี่ยนแปลงของประชากร (จำนวนที่ยืนยันแล้ว) ประจำปี 2023’ โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2024 ได้ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศญี่ปุ่น ประจำปี 2023 อยู่ที่ 1,576,016 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะเดียวกัน จำนวนการเกิดในปีเดียวกันอยู่ที่ 727,288 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง ซึ่งสังคมที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือ การขาดแคลนเตาเผาศพ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ตามรายงานข่าว NHK กล่าวว่า ‘ไม่สามารถเผาศพได้ ผู้คนต้องรอนานถึง 12 วัน ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สังคมผู้เสียชีวิต โดยจำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีสูงที่สุดในประวัติศาสตร์’ 

ที่มารูปภาพ : smartpeb / Shutterstock.com

นอกจากนี้ ตามรายงานของเมืองโยโกฮาม่า ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในบรรดาเมืองใหญ่ระบุว่า ในปี 2022 ได้ดำเนินการฌาปนกิจศพไปแล้ว 34,000 ราย ในฌาปนสถาน 4 แห่งของเมือง และไม่สามารถจองคิวและทำการเผาศพเลยได้ทันที ต้องรอเฉลี่ยประมาณ 5 – 6 วัน

ยกตัวอย่างเคสของหญิงชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ได้รับแจ้งว่า จะมีการเผาศพสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตในอีก 12 วัน โดยเธอกล่าวว่า ค่าธรรมเนียมในการเก็บรักษาศพเฉลี่ยตกวันละ 13,000 เยน และตลอดระยะเวลา 12 วัน มีรายจ่ายรวมมากกว่า 150,000 เยน (ตีเป็นเงินไทยประมาณ 32,981 บาท)

ในอดีต เมื่อมีคนเสียชีวิตในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอื่นๆ เป็นเรื่องปกติที่จะต้องนำศพกลับไปจัดงานศพที่บ้าน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นมักจัดงานศพขึ้นที่ฌาปนสถาน เนื่องจากผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์

ค่าธรรมเนียมฌาปนกิจพุ่งสูงขึ้น

จากปัญหาการขาดแคลนเตาเผาศพ ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมการเผาศพที่ฌาปนสถานสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะในโตเกียวที่มีค่าธรรมเนียมพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

‘ฌาปนสถาน’ เป็นสถานที่สาธารณะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และจะดำเนินการโดยหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยฌาปนสถานของเทศบาลมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 20,000 เยน และบางแห่งให้บริการฟรี อย่างไรก็ตาม ในบรรดาฌาปนสถานทั้ง 9 แห่งใน 23 เขตของโตเกียว มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ดำเนินการโดยภาครัฐ และอีก 7 แห่งดำเนินการโดยเอกชน

สำหรับค่าธรรมเนียมการเผาศพที่บริหารโดยเทศบาลอย่าง Tokyo Mizue Funeral Office อยู่ที่ 59,600 เยน (สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตโตเกียวที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป) และที่ Funeral Hall Rinkai Saijo อยู่ที่ 44,000 เยน (สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของสมาคมที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป)

ที่มารูปภาพ : https://www.tokyohakuzen.co.jp/ 

สำหรับค่าธรรมเนียมการเผาศพที่บริหารโดยเอกชนอย่าง โตเกียว ฮาคุเซ็น (Tokyo Hakuzen) เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการฌาปนสถานที่มีทั้งหมด 6 แห่งในใจกลางกรุงโตเกียว ค่าธรรมเนียมเริ่มต้นอยู่ที่ 90,000 เยน (สำหรับผู้ใหญ่) และที่ Yotsugi Funeral Hall เป็นฌาปนสถานที่มีค่าธรรมเนียมแพงที่สุด อยู่ที่ 295,000 เยน ทั้งนี้หากต้องการเลือกวันจัดงานเป็นลำดับแรก คุณอาจจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก

อย่างไรก็ตาม ฌาปนสถานของเอกชนที่กล่าวไปข้างต้นได้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับงานศพของพลเมืองแต่ละเขตเอาไว้แล้ว โดยค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ 59,600 เยน (ผู้ใหญ่) ซึ่งเท่ากับค่าธรรมเนียมฌาปนสถานที่บริหารโดยเทศบาล และจะมีสถานที่จัดงานของคนที่อาศัยอยู่ภายในเขตนั้นไว้โดยเฉพาะ

จำนวนเตาเผาศพไม่เพียงพอ

เหตุผลที่ทำให้โตเกียวมีฌาปนสถานเอกชนจำนวนมากกระจายอยู่ใน 23 เขต นั่นเป็นเพราะ การสร้างเตาเผาใหม่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นเป็นเรื่องยาก โดยทางด้านบริษัทโตเกียว ฮาคุเซ็น ได้ขยายธุรกิจโดยการซื้อฌาปนสถานเก่าอย่างเช่น วัด หลายแห่ง ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการเผาศพที่สูงลิ่วนั้นดูเหมือนจะเป็นปัญหาเฉพาะแค่ใน 23 เขตของโตเกียว เนื่องจากฌาปนสถานเอกชนมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนเตาเผาศพกำลังเป็นปัญหาร้ายแรงไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ที่มีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ต้องประสบปัญหากับจำนวนเตาเผาที่ไม่เพียงพอ ทำให้ “ขีดความสามารถในการเผา” ไม่สามารถรองรับได้ แต่การสร้างเตาเผาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจัดซื้อที่ดินและการได้รับความยินยอมจากชาวบ้านเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า

โดยวิธีหนึ่งที่จะเพิ่มจำนวนการเผาศพโดยไม่ต้องเปลี่ยนสถานที่เผา คือการลดระยะเวลาในการเผาศพในแต่ละครั้ง แม้การเผาศพจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีงานศพที่เกี่ยวพันกับการเสียชีวิตของคน แต่การที่จะรีบเสร็จสิ้นพิธีอำลาและเก็บอัฐินั้นค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่

ทางด้านนครโตเกียวได้เร่งแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสนับสนุนทางการเงินในการสร้างเตาเผาศพใหม่ในเขตต่างๆ เพื่อรับมือกับค่าธรรมเนียมการเผาศพที่พุ่งสูงขึ้น แต่อย่างที่ได้กล่าวไป การสร้างเตาเผาศพใหม่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นนั้นไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินเท่านั้น แต่ยังเกิดปัญหากับผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่อีกด้วย แม้ว่าประชาชนจะเข้าใจถึงความจำเป็น แต่หลายคนยังคงคัดค้านการสร้างเตาเผาศพใกล้บ้านเรือนอยู่ดี และแม้ว่าเทคโนโลยีสมัยนี้จะก้าวหน้าไปมากแล้ว เตาเผาศพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและไม่มีควันลอยขึ้นมาจากปล่องไฟแล้ว แต่ภาพลักษณ์ก็ยังคงดูไม่ค่อยดีนัก

ที่มารูปภาพ : https://www.alphashipnavi.jp/kasousen/

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการสร้าง “เรือจัดงานศพและเผาศพ” ที่จะทำการเผาศพในทะเลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วย โดยระบุว่า “อาจเป็นไปได้ในทางเทคนิค” ซึ่งคาดว่าเรือลำนี้จะมีขนาดประมาณ 2,600 ตัน มีเตาเผาศพ 4 เตา และห้องจัดงานศพ ส่วนข้อดีของเรือประเภทนี้คือ “ด้วยความที่มันสามารถเคลื่อนที่ได้ จึงสามารถหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการสร้างเตาเผาบนบก” อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้เคยประกาศออกมาแล้วเมื่อประมาณ 17 ปี แต่ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นจริง

การปรับตัวให้เข้ากับ “สังคมที่มีผู้เสียชีวิตสูง”

การขาดแคลนเตาเผาศพดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มุมมองเกี่ยวกับวันที่เผาศพยังปัญหาด้วยเช่นกัน

สำหรับคนญี่ปุ่น การเผาศพเป็นพิธีกรรมที่ต่อยอดมาจากพิธีงานศพ ซึ่งคนญี่ปุ่นหลายๆคนจะให้ความสำคัญกับปฏิทินโรคุโย หรือปฏิทินฤกษ์แบบญี่ปุ่น โดยจะมีทั้งหมด 6 วัน ซึ่งวันโทโมบิกิ เป็นวันที่คนญี่ปุ่นจะถือว่าไม่ควรจัดพิธีงานศพเลย อีกทั้ง ฌาปนสถานหลายแห่งยังหยุดในวันโทโมบิกิอีกด้วย

ถึงกระนั้น ยังมีฌาปนสถานบางแห่งที่เผาศพในวันโทโมบิกิอยู่ แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก เพราะฌาปนสถานไม่เพียงเป็นสถานที่เผาศพเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงสถานที่ประกอบพิธีกรรมอย่างการรับอัฐิด้วย ตัวอย่างเช่น การเผาศพที่แยกจากพิธีกรรมอย่าง การนำร่างไปฝากไว้ที่ฌาปนสถานแล้วให้มาเก็บเถ้ากระดูกในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นจะค่อนข้างยอมรับได้ยากนั่นเอง

ในอนาคต “วันโทโมบิกิ” อาจจะไม่ใช่วันโชคร้ายอีกต่อไป

หลังจากปี 2025 คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะเข้าสู่วัยชรา และมีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะเริ่มกลายเป็น “สังคมที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง” โดยจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในปี 2040

และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายๆคนเสียชีวิตเพียงลำพังโดยไม่มีครอบครัว คนดังหลายคนไม่จัดพิธีงานศพ แต่กลับจัดพิธีรำลึกแทน ซึ่งความตระหนักรู้ของผู้คนก็เริ่มจะเปลี่ยนไปเช่นกัน ดังนั้น ในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่า ฌาปนสถานหลายแห่งจะเปิดเตาเผาศพในวันโทโมบิกิ และขยายเวลาทำการจากปกติออกไปอีกนั่นเอง

ที่มา

https://president.jp/articles/-/92182

อ่านบทความอื่นๆ

 

Back To Top


แท็กยอดนิยม


แชร์บทความนี้

Klook.com

Top 5 Articles




อัปเดตเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุก ๆ
เพิ่มเติมได้ที่เพจ fromJapan !


Copyright © 0000-2024 fromJapan.com All Rights Reserved.