‘ญี่ปุ่น’ เผชิญอัตราการหย่าร้างในวัยกลางคนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ส.ค. 21, 2024
‘ญี่ปุ่น’ เผชิญอัตราการหย่าร้างในวัยกลางคนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับอัตราการหย่าร้างในวัยกลางคนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่เป็นผลกระทบมาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยเบื้องหลังอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของผู้หญิงในสังคมการทำงานหรือประชากรที่มีอายุยืน
จากข้อมูลสถิติประชากรปี 2022 ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นพบว่า ภาพรวมจำนวนการหย่าร้างของคู่สมรสทั้งหมดอยู่ที่ 179,099 คู่ รวมทั้งคู่สมรสที่ไม่ทราบระยะเวลาการอยู่ร่วมกัน จำนวน 12,894 คู่ โดยจำนวนดังกล่าวนี้ถือว่าลดลงมาประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปี 2002 ที่มีจำนวนการหย่าร้างสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 29,000 คู่
ข้อมูลการอาศัยอยู่ร่วมกันของคู่สมรสในปี 2022
- คู่สมรสที่อยู่ในช่วงอายุ 20 – 24 ปี มีจำนวน 16,404 คู่
- คู่สมรสที่อยู่ในช่วงอายุ 25 – 29 ปี มีจำนวน 10,829 คู่
- คู่สมรสที่อยู่ในช่วงอายุ 30 – 34 ปี มีจำนวน 5,192 คู่
- คู่สมรสที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีจำนวน 6,566 คู่
สาเหตุการหย่าร้างที่พบบ่อยที่สุด เมื่อจำแนกตามระยะเวลาที่อาศัยอยู่ร่วมกันคือ ‘จำนวนปีที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกัน’ โดยมีคู่สมรสที่หย่ากันมากถึง 52,606 คู่ หลังจากพวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกันได้ไม่ถึง 5 ปี แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ การหย่าร้างของคู่สมรสที่อยู่ด้วยกันมามากกว่า 20 ปี ซึ่งทั่วไปจะเรียกว่า ‘การหย่าร้างในวัยกลางคน’
แม้ว่าภาพรวมการหย่าร้างของประเทศญี่ปุ่นจะลดลง แต่จำนวนการหย่าร้างในวัยกลางคนกลับสูงขึ้น จากสถิติในปี 2022 พบว่ามีคู่สมรสหย่าร้างกันหลังจากที่อาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลา 20 ปีขึ้นไป จำนวน 38,991 คู่ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ยังคงสูงอยู่ นับตั้งแต่ปี 1998 ที่มีสถิติสูงสุดอยู่ที่ 40,000 คู่ต่อปี
เมื่อพิจารณาแนวโน้มอัตราการหย่าร้างในวัยกลางคนของปี 2022 ไม่รวมกรณีที่ไม่ทราบระยะเวลาการอยู่ร่วมกัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 23.5% ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.8% จากปี 2021
แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้คู่รักที่อยู่ด้วยกันมานานกว่า 20 ปี ตัดสินใจหย่าร้างกัน?
จากข้อมูลสถิติ ดูเหมือนว่าปัญหาการหย่าร้างในวัยกลางคนอาจมีสาเหตุมาจากจำนวนการแต่งงานลดลงอันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนประชากรที่ลดลง เป็นต้น
โดยทางผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่านชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้คู่รักในช่วงวัยกลางคนหย่าร้างกันนั้นมาจาก ‘ความก้าวหน้าทางสังคมของผู้หญิง’ ในปัจจุบันมีผู้หญิงเข้ามาทำงานเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ และผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็มีฐานรายได้เพิ่มขึ้นทำให้พวกเธอไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงินหลังจากที่หย่าร้าง
โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้ความก้าวหน้าทางสังคมของผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ก็มาจากการที่ผู้คนเริ่มตระหนักรู้เกี่ยวกับการล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศในการทำงานเพิ่มมากขึ้น และรู้ว่า ‘นี่เป็นการล่วงละเมิดทางศีลธรรม เราไม่จำเป็นต้องทนกับมัน’ ซึ่งต่างจากแนวคิดที่ว่าการถูกคุกคามถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องอดทน
และเหตุผลสำคัญอีกหนึ่งประการคือ ‘ประชากรมีอายุยืน’ คู่รักบางคู่จึงก้าวเข้าสู่จุดอิ่มตัวในความสัมพันธ์ ส่งผลให้คู่รักเหล่านี้เริ่มออกแบบชีวิตของตัวเองใหม่เพิ่มขึ้น
ทางด้าน ‘อาสึโกะ โอคาโนะ’ (Atsuko Okano) ที่ปรึกษาด้านการหย่าร้างและประธานคณะกรรมการสมาพันธ์ให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัวแห่งประเทศญี่ปุ่น (NPO) กล่าวว่า ‘ประมาณช่วงปี 1950 อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 58 ปี หลังจากเกษียณอายุ สามีก็ไม่ได้วางแผนที่จะมีชีวิตยืนยาวมากนัก แต่ในปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายอยู่ที่ 81 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงสงคราม ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงช่วงที่ลูกๆออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง พ่อแม่จึงมีเวลาร่วมกันมากขึ้นหลังจากเกษียณ และมีหลายกรณีที่คู่รักไม่สามารถยืนหยัดอยู่ด้วยกันได้ เนื่องจากความแตกต่างของบุคลิกภาพ และพยายามรีเซ็ตชีวิตสมรสด้วยการเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพการเงินในครัวเรือนก็อาจเป็นตัวกระตุ้นด้วยเช่นกัน’
ทางด้าน ‘อาโออิ โฮริอิ’ (Aoi Horii) ทนายความที่ดูแลคดีหย่าร้างและปัญหาชีวิตสมรสกล่าวว่า “ในอดีตการหย่าร้างหลายกรณีเกิดจากการที่สามีเกษียณอายุ แต่เมื่อเร็วๆนี้ มีผู้คนเข้ามาปรึกษาหารือเรื่องหย่าร้างในช่วงก่อนที่จะเกษียณอายุเพิ่มขึ้น”
โดยกล่าวได้ว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงเกษียณอายุ ผู้คนถูกถอดออกจากตำแหน่งผู้บริหารเมื่อถึงช่วงอายุที่กำหนด รายได้ต่อปีของพวกเขาจึงลดลงอย่างมาก ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างสามีและภรรยา และจำนวนคดีที่นำไปสู่การหย่าร้างก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่มา
https://news.yahoo.co.jp/articles/48f49b837970d3d33349f9d75e791923c3f8496b
https://news.yahoo.co.jp/articles/77f2e6c7bccf000223f6bdc5c10bcf8d1b8bd699
อ่านบทความสนุกๆจาก fromJapan 🥰
- ทำไมคนเกียวโตถึงวาง ‘หินอิเคซุ’ ไว้ที่มุมบ้าน?
- สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ ‘โรงอาบน้ำสาธารณะญี่ปุ่น’ ก่อนไปใช้บริการจริง!
- ไขเหตุผลสุดทึ่ง! ทำไม ‘ข้าวกล่องญี่ปุ่น’ ถึงวางปลาแซลมอนชิ้นจิ๋วขนาดนี้?
มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ! 😉
รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!
ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ