เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘ชินคันเซ็น’ รถไฟที่เร็วที่สุดในญี่ปุ่น!
ส.ค. 05, 2024
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘ชินคันเซ็น’ รถไฟที่เร็วที่สุดในญี่ปุ่น!

ที่มารูปภาพ : tapanuth / Shutterstock.com
เป็นเวลากว่า 60 ปี ตั้งแต่ญี่ปุ่นได้เปิดตัวรถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า ‘ชินคันเซ็น’ (Shinkansen) พร้อมทั้งให้บริการเส้นทางรถไฟสาย Tokaido Shinkansen (โตเกียว – ชินโอซาก้า) ในปี 1964 ในปัจจุบัน รถไฟชินคันเซ็นยังคงเปิดให้บริการพร้อมขยายเครือข่ายเส้นทางไปทั่วญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

ที่มารูปภาพ : https://www.nippon.com/en/
ต่อไป เราจะพาไปดูรายชื่อเส้นทางรถไฟชินคันเซ็นที่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน (ปี 2024) รวมถึงเส้นทางที่กำลังวางแผนสร้างในอนาคต
รายชื่อเส้นทางรถไฟชินคันเซ็น
รายชื่อเส้นทางรถไฟชินคันเซ็น (อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง / วางแผน)
อย่างที่ทราบกันดีว่ารถไฟชินคันเซ็นนั้นจะวิ่งเชื่อมเมืองสำคัญต่างๆทั่วประเทศญี่ปุ่น แล้วทุกคนทราบกันหรือยังว่า รถไฟชินคันเซ็นมีทั้งหมดกี่ประเภท? แล้วแต่ละประเภทมีจุดเดินรถเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ไหนบ้าง
ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำประเภทของรถไฟ ‘ชินคันเซ็น’ รวมถึงรายละเอียดของขบวนรถไฟที่วิ่งในแต่ละเส้นทาง ถ้าหากพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย!
สารบัญ (Index) : ประเภทของรถไฟ ‘ชินคันเซ็น’ (Shinkansen)
- Hokkaido Shinkansen
- Tohoku Shinkansen
- Akita Shinkansen
- Yamagata Shinkansen
- Joetsu Shinkansen
- Tokaido Shinkansen
- Sanyo Shinkansen
- Hokuriku Shinkansen
- Kyushu Shinkansen
- Nishi-Kyushu Shinkansen
1. Hokkaido Shinkansen (ฮอกไกโด ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : Piti Sirisriro / Shutterstock.com
รถไฟชินคันเซ็นที่วิ่งบนสาย Hokkaido Shinkansen จะมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ Hayabusa (ฮายาบุสะ) และ Hayate (ฮายาเตะ) โดยรถไฟทั้งสองประเภทนี้จะดำเนินการร่วมกับสาย Tohoku Shinkansen (โทโฮคุชินคันเซ็น)
ระยะเส้นทาง : สถานีชินอาโอโมริ (Shin-Aomori Station) – สถานีชินฮาโกดาเตะ-โฮคุโตะ (Shin-Hakodate-Hokuto Station)

ที่มารูปภาพ : mTaira / Shutterstock.com
- Hayabusa
‘Hayabusa’ (ฮายาบุสะ) เป็นรถไฟที่วิ่งตรงจากทางตอนใต้ของสถานีโมริโอกะ (Morioka Station) ด้วยความเร็ว 320 กม./ชม. รถไฟขบวนนี้นอกจากจะมีบริการวิ่งตรงแบบไม่หยุดพักระหว่างสถานีชินอาโอโมริ (Shin-Aomori Station) และสถานีชินฮาโกดาเตะ-โฮคุโตะ (Shin-Hakodate-Hokuto Station) แล้ว ยังมีขบวนที่จอดที่สถานีคิโคไน (Kikonai Station) หรือขบวนที่จอดทั้งสถานีโอคุสึการุ-อิมาเบะสึ (Okutsugaru-Imabetsu Station) และสถานีคิโคไน (Kikonai Station) อีกด้วย
- Hayate
‘Hayate’ (ฮายาเตะ) เป็นรถไฟรุ่นเดียวกันกับรถไฟฮายาบุสะ และเวลาที่ใช้เดินทางก็เท่ากัน เพียงแต่ว่ารถไฟรุ่นฮายาเตะนั้นจะให้บริการแค่ระหว่างสถานีโมริโอกะ (Morioka Station) สถานีชินอาโอโมริ (Shin-Aomori Station) และชินฮาโกดาเตะ-โฮคุโตะ (Shin-Hakodate-Hokuto Station) และไม่มีช่วงระยะเดินรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 320 กม./ชม. อีกด้วย ดังนั้น รถไฟขบวนนี้จึงไม่ได้ใช้ชื่อว่า ‘ฮายาบุสะ’ แต่จะดำเนินการภายใต้ชื่อว่า ‘ฮายาเตะ’ แทน
2. Tohoku Shinkansen (โทโฮคุ ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : Piti Sirisriro / Shutterstock.com
Tohoku Shinkansen เป็นเส้นทางรถไฟสายหลักทางทิศตะวันออกของญี่ปุ่นที่วิ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญในภูมิภาคโทโฮคุ รวมถึงยังเป็นเส้นทางสัญจรในภูมิภาคคันโตตอนเหนืออีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับขบวนรถไฟที่มีชั้นที่นั่งระดับ Gran Class ซึ่งเป็นชั้นรถไฟที่หรูหราที่สุด
ระยะเส้นทาง : สถานีโตเกียว (Tokyo Station) – สถานีชินอาโอโมริ (Shin-Aomori Station)

ที่มารูปภาพ : Piti Sirisriro / Shutterstock.com
- Hayabusa
‘Hayabusa’ (ฮายาบุสะ) เป็นรถไฟที่วิ่งตรงแบบไม่หยุดพักระหว่างสถานีโอมิยะ (Omiya Station) กับสถานีเซนได (Sendai Station) นอกจากนี้ รถไฟทุกขบวนจะเป็นที่นั่งแบบจองล่วงหน้าทั้งหมด
- Yamabiko
‘Yamabiko’ (ยามาบิโคะ) เป็นรถไฟที่ไม่จำเป็นต้องระบุที่นั่ง โดยรถไฟขบวนนี้จะวิ่งเชื่อมระหว่างสถานีโตเกียว (Tokyo Station) กับสถานีเซนได (Sendai Station) และสถานีโมริโอกะ (Morioka Station)
สำหรับจุดหยุดรถระหว่างสถานีโตเกียวและสถานีเซนไดนั้นมีหลากหลายรูปแบบ รถไฟบางขบวนจอดแค่สถานีโอมิยะ (Omiya Station) และสถานีฟุกุชิมะ (Fukushima Station) หรือบางขบวนก็จะจอดทุกสถานี อย่างไรก็ตาม รถไฟทุกขบวนจะจอดระหว่างสถานีเซนได (Sendai Station) และสถานีโมริโอกะ (Morioka Station) ทั้งหมด
- Nasuno
‘Nasuno’ (นาสุโนะ) เป็นรถไฟระยะสั้นที่จอดทุกสถานีระหว่างสถานีโตเกียว (Tokyo Station) – สถานีนาสุชิโอบาระ (Nasushiobara Station) และสถานีโคริยามะ (Koriyama Station) โดยส่วนใหญ่รถไฟขาออกจะวิ่งตั้งแต่ช่วงเย็นถึงตอนดึก และรถไฟขาเข้าส่วนใหญ่จะวิ่งในช่วงเช้า
- Hayate
‘Hayate’ (ฮายาเตะ) ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเภทรถไฟก็จริง แต่ในปัจจุบันรถไฟขบวนนี้ไม่ได้วิ่งให้บริการบนสาย Tohoku Shinkansen
3. Akita Shinkansen (อาคิตะ ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : Jumpei Hosoi / Shutterstock.com
ขบวนรถไฟที่วิ่งบนสาย Akita Shinkansen จะวิ่งจากสถานีโมริโอกะ (Morioka Station) ไปยังสถานีอาคิตะ (Akita Station) ผ่านสถานีทาซาวะโคะ (Tazawako Station) สถานีคาคุโนะดาเตะ (Kakunodate Station) และสถานีโอมาการิ (Omagari Station)
สำหรับสาย Akita Shinkansen และสาย Yamagata Shinkansen จะไม่เหมือนกับเส้นทางรถไฟชินคันเซ็นสายอื่น เนื่องจากเป็นสายที่มีการเปลี่ยนความกว้างของรางให้เท่ากับรางรถไฟชินคันเซ็น (ขนาดราง 1,435 มม.) ดังนั้น ขนาดของรถไฟของทั้งสองสายนี้จึงมีขนาดเล็กกว่ารถไฟชินคันเซ็นทั่วไป โดยรถไฟที่กล่าวมานั้นจะเรียกว่า ‘มินิชินคันเซ็น’ (Mini Shinkansen)
ระยะเส้นทาง : สถานีโมริโอกะ (Morioka Station) – สถานีอาคิตะ (Akita Station)

ที่มารูปภาพ : PixHound / Shutterstock.com
- Komachi
ขบวนรถไฟที่วิ่งบนสาย Akita Shinkansen จะวิ่งด้วยรถไฟ ‘Komachi’ (โคมาจิ) รุ่น E6 Series ทั้งหมด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว รถไฟขบวนนี้จะจอดเพียงแค่ 3 สถานี ได้แก่ สถานีทาซาวะโคะ (Tazawako Station) สถานีคาคุโนะดาเตะ (Kakunodate Station) และสถานีโอมาการิ (Omagari Station)
นอกจากนี้ รถไฟจะจอดที่สถานีชิซุคุอิชิ (Shizukuishi Station) เพียงแค่ 4 ขบวนต่อวัน รวมถึงรถไฟขาออกเที่ยวสุดท้าย (Komachi No. 45) และรถไฟขาเข้าเที่ยวแรก (Komachi No. 6) จะจอดที่สถานีโอมาการิ (Omagari Station) เท่านั้น
4. Yamagata Shinkansen (ยามากาตะ ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : Piti Sirisriro / Shutterstock.com
Yamagata Shinkansen เป็นเส้นทางรถไฟที่วิ่งเชื่อมเมืองอื่นๆกับตัวเมืองของจังหวัดยามากาตะ เช่น เมืองโยเนซาวะ เมืองยามากาตะ และเมืองชินโจ รวมถึงยังเชื่อมกับสาย Tohoku Shinkansen ระหว่างสถานีโตเกียวและสถานีฟุกุชิมะอีกด้วย
ระยะเส้นทาง : สถานีฟุกุชิมะ(Fukushima Shinkansen) – สถานีชินโจ (Shinjo Shinkansen)

ที่มารูปภาพ : Piti Sirisriro / Shutterstock.com
- Tsubasa
‘Tsubasa’ (สึบาสะ) จะออกประมาณทุกๆ 1 ชั่วโมง ซึ่งในระหว่างวัน รถไฟขบวนนี้จะสลับกันจอดที่สถานียามากาตะ (Yamagata Station) และจะวิ่งตรงไปยังสถานีชินโจ (Shinjo Shinkansen)
สำหรับรูปแบบจุดหยุดรถนั้นค่อนข้างไม่ซับซ้อน โดยรถไฟทุกขบวนจะจอดระหว่างสถานีโยเนซาวะ (Yonezawa Station) – สถานียามากาตะ (Yamagata Station) และสถานีชินโจ (Shinjo Shinkansen) และในระหว่างวัน รถไฟส่วนใหญ่จะจอดที่สถานีอาคายุ (Akayu Station) และสถานีคามิโนยามะออนเซ็น (Kaminoyamaonsen Station)
5. Joetsu Shinkansen (โจเอสึ ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : Jumpei Hosoi / Shutterstock.com
Joetsu Shinkansen เป็นเส้นทางรถไฟชินคันเซ็นที่วิ่งเชื่อมต่อเขตมหานครโตเกียวกับจังหวัดกุนมะและจังหวัดนีงาตะ และในปี 1990 ได้เปิดให้บริการสถานีกาล่า ยูซาว่า (GALA Yuzawa Station) ซึ่งเป็นสถานีที่เชื่อมต่อไปยังสกีรีสอร์ท GALA Yuzawa Ski Resort และยังเป็นสถานีที่เปิดให้บริการเฉพาะในช่วงเวลาทำการเท่านั้น
ระยะเส้นทาง : สถานีโอมิยะ (Omiya Station) – สถานีนีงาตะ (Niigata Station)

ที่มารูปภาพ : TSUKASA HASEGAWA / Shutterstock.com
- Toki
‘Toki’ (โทคิ) เป็นรถไฟสายตรงสำหรับการขนส่งระยะกลางและระยะไกล โดยรถไฟทุกขบวนจะวิ่งให้บริการระหว่างสถานีโตเกียว (Tokyo Station) และสถานีนีงาตะ (Niigata Station) ยกเว้นในช่วงเช้าตรู่และช่วงดึก อย่างไรก็ตาม รถไฟแต่ละขบวนจะมีความแตกต่างกัน บางขบวนจะจอดทุกสถานีหรือบางขบวนก็จะไม่จอดเลย
- Tanigawa
‘Tanigawa’(ทานิกะ) เป็นรถไฟที่จอดทุกสถานี โดยส่วนใหญ่จะวิ่งให้บริการช่วงเช้าและช่วงเย็นเป็นหลักระหว่างสถานีโตเกียว (Tokyo Station) – สถานีอุเอะโนะ (Ueno Station) และระหว่างสถานีทาคาซากิ (Takasaki Station) – สถานีเอจิโกะ ยุซาวะ (Echigo-Yuzawa Station)
6. Tokaido Shinkansen (โทไคโด ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : Wipark Kulnirandorn / Shutterstock.com
Tokaido Shinkansen เป็นเส้นทางรถไฟสายหลักที่วิ่งเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างเมืองใหญ่สามแห่งของญี่ปุ่น ได้แก่ โตเกียว นาโกย่า และโอซาก้า และสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 458,000 คนต่อวัน
รถไฟที่วิ่งบนเส้นทางสาย Tokaido Shinkansen จะมี 3 ประเภท รถไฟทุกขบวนจะใช้เป็นรุ่น N700A หรือ N700S และมีระบบการจัดที่นั่งเหมือนกัน เพียงแต่ชื่อเรียก หน้าที่ และคุณสมบัติจะแตกต่างกัน
ระยะเส้นทาง : สถานีโตเกียว (Tokyo Station) – สถานีชินโอซาก้า (Shin-Osaka Station)

ที่มารูปภาพ : tackune / Shutterstock.com
- Nozomi
‘Nozomi’ (โนโซมิ) เป็นรถไฟด่วนพิเศษสายหลักของ Tokaido Shinkansen รถไฟทุกขบวนจะจอดที่สถานีเดียวกันนั่นก็คือ สถานีชินะกาวะ (Shinagawa Station), สถานีชินโยโกฮาม่า (Shin-Yokohama Station), สถานีนาโกย่า (Nagoya Station) และสถานีเกียวโต (Kyoto Station) นอกจากนี้ รถไฟยังมีรอบขบวนถี่ ดังนั้นเราจึงสามารถโดยสารได้ตลอดเวลา

ที่มารูปภาพ : tackune / Shutterstock.com
- Hikari
‘Hikari’ (ฮิคาริ) เป็นรถไฟที่วิ่งเชื่อมต่อหลายๆเมือง นอกจากจะจอดที่สถานีหลักแล้ว รถไฟขบวนนี้ยังจอดสถานีในเมืองขนาดกลางอย่าง สถานีชิซูโอกะ (Shizuoka Station) อีกด้วย โดยใน 1 ชั่วโมง จะมีรถไฟออก 2 ขบวน ซึ่งขบวนหนึ่งจะวิ่งตรงสู่สถานีโอคายามะ (Okayama Station) บนสาย Sanyo Shinkansen ส่วนอีกขบวนหนึ่งจะจอดที่สถานีชินโอซาก้า (Shin-Osaka Station)
สำหรับจุดหยุดรถ บางสถานีจะมีรถไฟมาจอดทุกๆ 1 ชั่วโมง หรือบางสถานีก็จะมีรถไฟมาจอดทุกๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งรูปแบบจุดหยุดรถบนเส้นทางสายนี้ค่อนข้างซับซ้อน โปรดตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ทางการอีกครั้งจะดีที่สุด

ที่มารูปภาพ : Luciano Mortula – LGM / Shutterstock.com
- Kodama
‘Kodama’ (โคดามะ) เป็นรถไฟที่จอดทุกสถานี ทุกๆหนึ่งชั่วโมงจะมีรถไฟวิ่ง 2 ขบวน สลับระหว่างมาถึงสถานีชินโอซาก้า (Shin-Osaka Station) และกลับไปยังสถานีนาโกย่า (Nagoya Station)
7. Sanyo Shinkansen (ซันโย ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : tackune / Shutterstock.com
Sanyo Shinkansen เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งเชื่อมต่อจากโอซาก้าไปยังเมืองโกเบ จังหวัดโอคายามะ จังหวัดฮิโรชิม่า จังหวัดยามากุจิ รวมถึงเมืองหลักในภูมิภาคชูโกกุ และไปสิ้นสุดที่เมืองฮากาตะ จังหวัดฟุกุโอกะโดยเส้นทางรถไฟสายนี้สามารถขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 198,000 คน นอกจากนี้ รถไฟที่วิ่งบนสายนี้ยังวิ่งไปเชื่อมต่อกับสาย Tokaido Shinkansen และสาย Kyushu Shinkansen อีกด้วย
ระยะเส้นทาง : สถานีชินโอซาก้า (Shin-Osaka Station) – สถานีฮากาตะ (Hakata Station)

ที่มารูปภาพ : Waruto Sama Studio / Shutterstock.com
- Nozomi
‘Nozomi’ (โนโซมิ) เป็นรถไฟที่วิ่งเร็วที่สุด ซึ่งจะวิ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับสาย Tokaido Shinkansen โดยขบวนรถไฟส่วนใหญ่จะออกจากสถานีฮิโรชิม่า (Hiroshima Station) หรือสถานีฮากาตะ (Hakata Station) โดยทั่วไปแล้วทุกๆหนึ่งชั่วโมงจะมีรถไฟออก 3 – 4 ขบวน หากในช่วงที่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่น วันหยุดยาว จะให้บริการได้ถึง 6 ขบวนต่อชั่วโมง
- Mizuho
‘Mizuho’ (มิซุโฮะ) เป็นรถไฟที่วิ่งเร็วที่สุดเช่นเดียวกับรถไฟโนโซมิ รถไฟขบวนนี้จะวิ่งให้บริการระหว่างสถานีชินโอซาก้า (Shin-Osaka Station) และสถานีคาโกชิม่าชูโอ (Kagoshima Chuo Station) รถไฟค่อนข้างมีรอบเดินรถไม่มาก โดยให้บริการตามสถานีต้นทางเพียง 8 ขบวนในช่วงเช้าและช่วงเย็นเท่านั้น
- Hikari
‘Hikari’ (ฮิคาริ) บนสาย Sanyo Shinkansen จะมีรถไฟ 2 ประเภท
ประเภทแรก รถไฟจะวิ่งตรงจากระหว่างสถานีโตเกียว (Tokyo Station) – สถานีโอคายาม่า (Okayama Station) และสถานีฮิโรชิม่า (Hiroshima Station) และในบางขบวนจะวิ่งให้บริการระหว่าสถานีนาโกย่า (Nagoya Station) – สถานีฮากาตะ (Hakata Station) และระหว่างสถานีชินโยโกฮาม่า (Shin-Yokohama Station) – สถานีนาโกย่า (Nagoya Station) และสถานีฮิโรชิม่า (Hiroshima Station)
ประเภทสอง จะวิ่งให้บริการเฉพาะสถานีที่อยู่บนสาย Sanyo Shinkansen เท่านั้น และจะไม่หยุดจอดหลายสถานี อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เส้นทางรถไฟสาย Kyushu Shinkansen เปิดให้บริการครบทั้งสาย รถไฟประเภทนี้ส่วนใหญ่จึงถูกแทนที่ด้วยรถไฟ ‘ซากุระ (Sakura)’ ด้วยเหตุนี้ รถไฟฮิคาริจึงมีเที่ยวรถไฟขาเข้า 3 ขบวน และรถไฟขาออก 2 ขบวน ในช่วงเช้าตรู่และช่วงเย็นเท่านั้น
- Sakura
‘Sakura’ (ซากุระ) เป็นรถไฟสายตรงที่วิ่งสู่เส้นทางสาย Kyushu Shinkansen และจะจอดเฉพาะสถานีใหญ่ๆบนสาย Sanyo Shinkansen เช่น สถานีชินโอซาก้า (Shin-Osaka Station), สถานีชินโกเบ (Shin-Kobe Station), สถานีโอคายามะ (Okayama Station) สถานีฮิโรชิมะ (Hiroshima Station) ฯลฯ นอกจากนี้ ทุกๆหนึ่งชั่วโมงจะมีรถไฟออกจากสถานี 1 – 2 ขบวน

ที่มารูปภาพ : Poh Smith / Shutterstock.com
- Kodama
‘Kodama’ (โคดามะ) เป็นรถไฟที่จอดทุกสถานี รถไฟขบวนนี้นอกจากจะวิ่งเชื่อมระหว่างสถานีชินโอซาก้า (Shin-Osaka Station) และสถานีฮากาตะ (Hakata Station) เป็นหลักแล้ว ยังมีขบวนที่วิ่งให้บริการบนเส้นทางอื่นด้วย เช่น ระหว่างสถานีโอคายามะ (Okayama Station) – สถานีฮิโรชิมะ (Hiroshima Station) และระหว่างสถานีโคคุระ (Kokura Station) – สถานีฮากาตะ (Hakata Station) เป็นต้น
8. Hokuriku Shinkansen (โฮคุริคุ ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : Hit1912 / Shutterstock.com
Hokuriku Shinkansen เป็นเส้นทางรถไฟชินคันเซ็นที่เชื่อมต่อพื้นที่มหานครโตเกียวและภูมิภาคโฮคุริคุ รวมถึงจังหวัดโทยามะและจังหวัดอิชิกาวะ
ระยะเส้นทาง : สถานีโตเกียว (Tokyo Station) – สถานีสึรุกะ (Tsuruga Station)

ที่มารูปภาพ : mTaira / Shutterstock.com
- Kagayaki
‘Kagayaki’ (คากายากิ) เป็นรถไฟที่วิ่งเร็วที่สุดของเส้นทางรถไฟสาย Hokuriku Shinkansen โดยรถไฟขบวนนี้จะจอดแค่ที่สถานีอุเอโนะ (Ueno Station) สถานีโอมิยะ (Omiya Station) สถานีนากาโนะ (Nagano Station) และสถานีโทยามะ (Toyama Station) โดยส่วนใหญ่จะวิ่งให้บริการในตลอดช่วงเช้าและช่วงเย็น
ส่วนที่นั่งบนขบวนจะเป็นที่นั่งแบบจองล่วงหน้าทั้งหมด และทุกขบวนล้วนมีตู้รถไฟระดับ Gran Class ให้บริการ ยกเว้นรถไฟที่วิ่งให้บริการในบางพื้นที่ ซึ่งภายในตู้โดยสารจะมีพนักงานคอยจัดเตรียมของว่าง เครื่องดื่มและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
**หมายเหตุ : รถไฟคากายากิบางขบวนอาจไม่จอดที่สถานีอุเอโนะ (Ueno Station)
- Hakutaka
‘Hakutaka’ (ฮาคุทาคะ) เป็นรถไฟสายหลักของสาย Hokuriku Shinkansen ที่มีรอบรถไฟออกทุกๆ 1 ชั่วโมงต่อ 1 ขบวน รถไฟขบวนนี้มีตู้รถไฟระดับ Gran Class ให้บริการเช่นเดียวกับรถไฟคากายากิ และโซนที่นั่งแบบไม่ระบุที่นั่งจะอยู่ที่ตู้โดยสารหมายเลข 1 – 4
- Asama
‘Asama’ (อาซามะ) เป็นรถไฟที่วิ่งระหว่างสถานีโตเกียว (Tokyo Station) และสถานีนากาโนะ (Nagano Station) รถไฟขบวนนี้มีตู้รถไฟระดับ Gran Class แต่จะไม่มีพนักงานต้อนรับบนขบวน ดังนั้น ค่าโดยสารจึงมีราคาถูกกว่าเล็กน้อย
- Tsurugi
‘Tsurugi’ (สึรุกิ) เป็นรถไฟที่ให้บริการขนส่งระยะสั้นระหว่างสถานีโทยามะ (Toyama Station) สถานีชินทาคาโอกะ (Shin-Takaoka Station) และสถานีคานาซาวะ (Kanazawa Station) โดยขบวนรถไฟส่วนใหญ่จะวิ่งมาเชื่อมต่อกับรถไฟด่วนพิเศษ “Thunderbird” ที่มุ่งหน้าไปยังโอซาก้า และรถไฟ “Shirasagi” (ชิราซากิ) ที่มุ่งหน้าไปยังนาโกย่า
ส่วนตู้รถไฟระดับ Gran Class จะไม่เปิดให้บริการ คุณสามารถนั่งได้เฉพาะตู้รถไฟหมายเลข 1 – 7 (บางคันหมายเลข 8) และหมายเลข 11 (คันสีเขียวเท่านั้น)
9. Kyushu Shinkansen (คิวชู ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : nikonka1 / Shutterstock.com
รถไฟชินคันเซ็นที่วิ่งบนเส้นทางสายนี้จะวิ่งเชื่อมต่อกับเมืองสำคัญๆในภูมิภาคคิวชู เช่น จังหวัดฟุกุโอกะ (สถานีฮากาตะ) จังหวัดคุมาโมโตะ และจังหวัดคาโกชิม่า
ในบางสถานียังคงมีการขยายและพัฒนาตัวอาคารให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ เช่น การก่อตั้งสถานีในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายของผู้โดยสาร การตกแต่งภายในอาคารสถานีโดยจะสอดแทรกวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมลงไป รวมถึงการตกแต่งภายในขบวนรถไฟให้มีกลิ่นอายความเป็นภูมิภาคคิวชู เป็นต้น
ระยะเส้นทาง : สถานีชินโอซาก้า (Shin-Osaka Station) – สถานีฮากาตะ (Hakata Station)

ที่มารูปภาพ : Kapi-Ng / Shutterstock.com
- Mizuho
‘Mizuho’ (มิซุโฮะ) เป็นรถไฟที่วิ่งเร็วที่สุดบนสาย Kyushu Shinkansen ที่วิ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับเส้นทางสาย Sanyo Shinkansen รถไฟขบวนนี้จะวิ่งให้บริการ 8 ขบวนต่อวัน ส่วนใหญ่จะวิ่งให้บริการในช่วงเช้าและช่วงเย็นเป็นหลัก
- Sakura
‘Sakura’ (ซากุระ) เป็นรถไฟหลักของสาย Kyushu Shinkansen ที่ออกประมาณทุกๆ 10 – 30 นาที รถไฟบางขบวนจะวิ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับสาย Sanyo Shinkansen และบางขบวนจะวิ่งให้บริการเฉพาะสถานีของสาย Kyushu Shinkansen เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารถไฟขบวนนี้จะวิ่งผ่านหลายสถานี แต่ในหนึ่งวันจะมีรถไฟจอดทุกสถานีอย่างน้อย 2 ขบวน

ที่มารูปภาพ : wdeon / Shutterstock.com
- Tsubame
‘Tsubame’ (สึบาเมะ) เป็นรถไฟประเภท ‘โคดามะ’ ที่วิ่งบนสาย Tokaido Shinkansen และสาย Sanyo Shinkansen รถไฟขบวนนี้จะจอดทุกสถานีและจะวิ่งบนสาย Kyushu Shinkansen เท่านั้น
รถไฟสึบาเมะจะวิ่งระหว่างสถานีฮากาตะและสถานีคุมาโมโตะเป็นหลัก และมีรถไฟเพียงไม่กี่ขบวนที่วิ่งตรงระหว่างสถานีฮากาตะและสถานีคาโกชิม่าชูโอ และส่วนใหญ่จะวิ่งให้บริการในช่วงเช้าและช่วงเย็น
10. Nishi-Kyushu Shinkansen (นิชิ-คิวชู ชินคันเซ็น)

ที่มารูปภาพ : Kapi-Ng / Shutterstock.com
Nishi-Kyushu Shinkansen เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสาย Shinkansen West Kyushu (ระหว่างเมืองฟุกุโอกะและเมืองนางาซากิ) ที่วิ่งเชื่อมต่อระหว่างสถานีทาเคโอะ-ออนเซ็นและสถานีนางาซากิ ด้วยความเร็วสูงสุด 23 นาที เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กันยายน ปี 2022
ระยะเส้นทาง : สถานีทาเคโอะ-ออนเซ็น (Takeo-Onsen Station) – สถานีนางาซากิ (Nagasaki Station)

ที่มารูปภาพ : MeSamong / Shutterstock.com
- Kamome
‘Kamome’ (โคโมเมะ) เป็นรถไฟที่มีพื้นฐานโครงสร้างมาจาก N700S (รถไฟ 16 ตู้) รถไฟรุ่นใหม่ล่าสุดของสาย Tokaido Shinkansen และสาย Sanyo Shinkansen และได้ผลิตรถไฟคาโมเมะออกมาจำนวน 6 คัน
ภายนอกตัวรถไฟจะเป็นสีขาวและสีแดงโทนเดียวกันกับบริษัท JR Kyushu และมีการออกแบบภายในรถไฟให้มีกลิ่นอายความเป็นสไตล์ญี่ปุ่นผสมผสานกับสไตล์ตะวันตก รถไฟโคโมเมะจึงกลายเป็น “ยานพาหนะที่ไม่ซ้ำใครตามแบบฉบับของคิวชู”
ที่มา
https://www.nippon.com/ja/features/h00077/
https://www.nippon.com/en/features/h00077/
https://www.toretabi.jp/railway_info/entry-7625.html
อ่านบทความที่น่าสนใจ
- อัปเดต! แผนที่รถไฟชินคันเซ็น Hokuriku Shinkansen พร้อมเส้นทาง-ที่นั่ง-ค่าโดยสาร
- วิธีการเดินทางไปคาโกชิม่า ด้วยรถไฟชินคันเซ็น
- รู้จัก “ประเทศญี่ปุ่น” ด้วยไกด์บุ๊คแดนอาทิตย์อุทัยฉบับเข้าใจง่าย
มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ!
รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!
ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ