fbpx

รู้จัก “ประเทศญี่ปุ่น” ด้วยไกด์บุ๊คแดนอาทิตย์อุทัยฉบับเข้าใจง่าย

ก.พ. 08, 2024

รู้จัก “ประเทศญี่ปุ่น” ด้วยไกด์บุ๊คแดนอาทิตย์อุทัยฉบับเข้าใจง่าย

บทนำ : มาทำความรู้จักกับ “ประเทศญี่ปุ่น” กันเถอะ!

หากพูดถึง “ประเทศญี่ปุ่น” ทุกคนนึกอิมเมจของประเทศนี้เป็นแบบไหนกันบ้างคะ?

บางคนอาจจะคิดถึงอาหารญี่ปุ่นอย่างซูชิ ซาชิมิ สุกี้ยากี้ หรือบางคนก็นึกถึงซอฟต์พาวเวอร์ที่แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างอนิเมะและมังงะชื่อดัง หรือสายท่องเที่ยวก็จะนึกถึงสถานที่ต่างๆอย่างภูเขาไฟฟูจิ โตเกียวทาวเวอร์ แหล่งแช่ออนเซ็น

แน่นอนว่าสิ่งต่างๆที่เรากล่าวไปทั้งหมดล้วนเป็นอิมเมจที่สื่อถึงประเทศญี่ปุ่นได้อย่างดี แต่นอกจากภาพลักษณ์เหล่านี้แล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของทวีปเอเชียที่มีความโดดเด่นทั้งด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงวัฒนธรรมที่น่าสนใจและมีเอกลักษณ์อีกหลายประการ

นอกจากนี้ในแง่ของการท่องเที่ยว ดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ก็สามารถเที่ยวได้สนุกทุกฤดูกาล เนื่องจากทั้งสี่ฤดูมีจุดเด่นและความสวยงามแตกต่างกันไป

อีกทั้งญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่เดินทางไปได้อย่างสะดวก ทั้งขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศที่มีสายการบินเปิดเส้นทางจากไทยไปยังทุกภูมิภาคของญี่ปุ่น รวมถึงการเดินทางภายในประเทศญี่ปุ่นที่สะดวกสบายอย่างมากสำหรับชาวต่างชาติ เนื่องด้วยญี่ปุ่นมีการคมนาคมที่เจริญและทันสมัย โดยมียานพาหนะหลากหลายแบบให้เลือกใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถบัส เรือเฟอร์รี่ รถยนต์ให้เช่า หรือเครื่องบินภายในประเทศ

ในบทความนี้เราจะมาแนะนำ “ประเทศญี่ปุ่น” ในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นไกด์บุ๊คสำหรับใครก็ตามที่สนใจอยากไปเที่ยวแดนซากุระ แล้วอยากลองทำความรู้จักกับประเทศนี้ก่อนออกเดินทางค่ะ 😊

สารบัญ (Index) : ข้อมูลของ “ประเทศญี่ปุ่น”

1. ภูมิศาสตร์ “ประเทศญี่ปุ่น”

ประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียฝั่งตะวันออก ลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยทะเล โดยมีมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Ocean) ล้อมรอบทางทิศตะวันออกของประเทศ ทิศตะวันตกมีทะเลญี่ปุ่น (Sea of Japan) ส่วนทิศใต้มีทะเลจีนตะวันออก (East China Sea) ประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่ทั้งหมด 378,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับพื้นที่ของประเทศไทยแล้ว ญี่ปุ่นนับว่ามีขนาดพื้นที่เล็กกว่าไทย

ด้วยความที่ผืนแผ่นดินญี่ปุ่นตั้งอยู่ใจกลางท้องทะเลในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) หรือแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกและภูเขาไฟใต้น้ำที่ยังไม่ดับ ญี่ปุ่นจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มักจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง อาทิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น

ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังคร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อย แต่ในปัจจุบันญี่ปุ่นได้มีการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยและแม่นยำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อค่ะ

แผ่นดินของประเทศญี่ปุ่นประกอบไปด้วยเกาะต่างๆเป็นจำนวนมากถึง 14,125 เกาะ โดยแบ่งออกเป็นเกาะขนาดใหญ่ทั้งหมด 4 เกาะ คือ เกาะฮอกไกโด เกาะฮอนชู เกาะคิวชู และเกาะชิโกกุ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งภูมิภาคและจังหวัดออกเป็น 8 ภูมิภาค 47 จังหวัด

ต่อจากนี้เราจะมาเจาะลึกถึงแต่ละภูมิภาคของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงแนะนำที่เที่ยวยอดฮิตทั้ง 47 จังหวัดกันค่ะ

Back To Index

ภูมิภาคฮอกไกโด (Hokkaido Region)

“ภูมิภาคฮอกไกโด” (Hokkaido Region) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศญี่ปุ่น และมีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากภูมิภาคฮอนชู โดยคิดเป็นพื้นที่ประมาณร้อยละ 20 ของประเทศ

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของฮอกไกโด ภูมิภาคนี้จึงมีช่วงฤดูหนาวที่ยาวนาน ดังนั้นลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปจึงหนาวเย็นและมีหิมะตกหนัก ส่วนช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นจะมีระยะเวลาสั้นและไม่ค่อยมีฝนตกหนักมากนัก

แม้ว่าสภาพอากาศส่วนใหญ่ของภูมิภาคฮอกไกโดจะปกคลุมไปด้วยความเหน็บหนาว แต่พื้นที่ประมาณ 70% ของภูมิภาคนี้ล้วนเต็มไปด้วยผืนป่าอันเขียวขจี อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้คนฮอกไกโดส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรและปศุสัตว์ค่ะ

Back To Index

ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku Region)

“ภูมิภาคโทโฮคุ” (Tohoku Region) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู ประกอบไปด้วย 6 จังหวัด คือ อาโอโมริ อิวาเตะ มิยากิ อาคิตะ ยามากาตะ และฟุกุชิมะ ในสมัยก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้จะเป็นเทือกเขาสูงชันที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น อีกทั้งยังมีเส้นทางสัญจรที่ค่อนข้างยากลำบาก แต่ในปัจจุบันพื้นที่หลายๆแห่งในภูมิภาคโทโฮคุได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น รวมถึงมีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อการเดินทางมาท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้โทโฮคุจึงกลายเป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่นเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

ภูมิภาคโทโฮคุมีลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นแนวยาว แต่สภาพอากาศทางตอนเหนือและตอนใต้ของโทโฮคุกลับมีอุณหภูมิต่างกันถึง 3–4 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนภูมิภาคโทโฮคุจะมีอากาศที่เย็นสบายกว่าพื้นที่ทางใต้ของภูมิภาคคันโต ดังนั้นโทโฮคุจึงมีช่วงเวลาที่สามารถชมดอกซากุระและใบไม้เปลี่ยนสีได้ยาวนาน

นอกจากนี้ภูมิภาคโทโฮคุยังโดดเด่นเรื่อง “ออนเซ็น” อีกด้วย เพราะหลายๆพื้นที่ก็เป็นที่ตั้งของแหล่งออนเซ็นซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และหลายๆแห่งก็มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากด้วยค่ะ

Back To Index

ภูมิภาคคันโต (Kanto Region)

“ภูมิภาคคันโต” (Kanto Region) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะฮอนชู ประกอบไปด้วย 7 จังหวัด คือ โตเกียว คานากาวะ ชิบะ ไซตามะ กุนมะ อิบารากิ และโทชิงิ จังหวัดในภูมิภาคคันโตส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนที่ราบคันโตซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

คันโตเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในประเทศเลยทีเดียว เนื่องจากภูมิภาคคันโตเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอย่าง “จังหวัดโตเกียว” ผู้คนจึงกระจุกอยู่ในโตเกียวและปริมณฑลมากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้โตเกียวและเมืองโดยรอบจึงเป็นศูนย์รวมความเจริญและความทันสมัย แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเผชิญปัญหาต่างๆด้วยเช่นกัน อาทิ ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย การเพิ่มขึ้นของขยะ การจราจรติดขัด และราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น

MAHATHIR MOHD YASIN / Shutterstock

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภูมิภาคคันโตเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอย่างโตเกียว ที่นี่จึงเป็นจุดศูนย์กลางของเครือข่ายการคมนาคมที่กระจายต่อไปยังทั่วประเทศ โตเกียวมีเส้นทางรถไฟสำหรับการเดินทางไปทำงานหรือไปเรียนอยู่หลายสาย เช่น รถไฟชินคันเซ็น รถไฟ JR รถไฟเอกชน หรือรถไฟใต้ดิน โดยรถไฟทุกสายล้วนเชื่อมต่อกับเมืองต่างๆในทุกทิศทาง

Back To Index

ภูมิภาคชูบุ (Chubu Region)

“ภูมิภาคชูบุ” (Chubu Region) เป็นภูมิภาคที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางเกาะฮอนชู ประกอบไปด้วย 9 จังหวัด คือ ไอจิ ชิซูโอกะ ยามานาชิ นากาโนะ กิฟุ นีงาตะ โทยามะ อิชิกาวะ และฟุกุอิ สภาพอากาศที่ชูบุส่วนใหญ่จะอบอุ่นและอุณหภูมิไม่ค่อยแปรปรวนมากนัก ด้วยเหตุนี้ชุบุจึงมักจะเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง

นอกจากนี้ ภูมิภาคชูบุยังเป็นที่ตั้งของเทือกเขาสำคัญหลายแห่ง เช่น เทือกเขาแอลป์แห่งญี่ปุ่น เทือกเขาฮิดะ และภูเขาไฟฟูจิ (Mt.Fuji) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2013

ชูบุเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตของผู้คนและวัฒนธรรมที่หลากหลาย หากใครเป็นสายเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ปราสาท หรือเมืองเก่าแก่ ภูมิภาคนี้ก็เป็นตัวเลือกที่ดีในแง่ของการท่องเที่ยวสไตล์ย้อนยุคค่ะ แถมชูบุยังเป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกโลกที่มีชื่อเสียงอย่างมากอีกด้วยนะคะ

Back To Index

ภูมิภาคคันไซ (Kansai Region)

“ภูมิภาคคันไซ” (Kansai Region) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกตอนกลางของเกาะฮอนชู โดยประกอบไปด้วย 7 จังหวัด คือ โอซาก้า เกียวโต เฮียวโกะ นารา มิเอะ ชิกะ และวาคายามะ ในสมัยก่อนภูมิภาคนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเก่าอย่างจังหวัดเกียวโตและจังหวัดนารา ซึ่งล้วนเป็นราชธานีนานร่วม 1,000 ปีเลยทีเดียว

ดังนั้นภูมิภาคคันไซจึงเป็นโซนที่เต็มไปด้วยโบราณสถานที่มีความสำคัญระดับชาติ โดยแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนของญี่ปุ่นล้วนกระจุกรวมกันที่ภูมิภาคนี้มากถึง 1 ใน 4 ของประเทศ บางสถานที่ก็เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวญี่ปุ่นเลยทีเดียว เช่น วัดคิโยมิสึ ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ ศาลเจ้าอิเสะ เป็นต้น

ภูมิภาคคันไซจึงเป็นโซนที่เราสามารถสัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมได้อย่างลึกซึ้ง เมื่อไปเดินเที่ยวตามย่านเมืองเก่า เราจะรู้สึกราวกับได้ย้อนเวลากลับไปยังยุคอดีตเลยทีเดียว

ทางด้านสภาพอากาศ แม้ว่าในแต่ละภูมิภาคของแดนอาทิตย์อุทัยจะมีอากาศแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วพื้นที่แถบคันไซถือว่ามีอากาศที่อบอุ่นและเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี

ที่สำคัญคือในฤดูกาลท่องเที่ยวอย่างฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆของภูมิภาคคันไซจะทวีความสวยงามมากยิ่งขึ้นด้วยฉากหลังที่เป็นวิวธรรมชาติแสนตระการตา นักท่องเที่ยวทั่วโลกจึงล้วนใฝ่ฝันอยากมาเยือนภูมิภาคคันไซในช่วงเวลานี้เมื่อคิดจะมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นค่ะ

Back To Index

ภูมิภาคชูโกกุ (Chugoku Region)

“ภูมิภาคชูโกกุ” (Chugoku Region) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะฮอนชู โดยประกอบไปด้วย 5 จังหวัด คือ โอคายามะ ฮิโรชิม่า ทตโตริ ชิมาเนะ และยามากุจิ พื้นที่ของภูมิภาคชูโกกุนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ พื้นที่ทางฝั่งทะเลญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่า ซันอิน (San’in) และพื้นที่ทางฝั่งทะเลเซโตะซึ่งเรียกว่า ซันโย (Sanyo)

พื้นที่ทั้งสองฝั่งนี้มีสภาพอากาศแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยพื้นที่ฝั่งซันอินที่หันเข้าหาทะเลญี่ปุ่นจะมีอากาศหนาวเย็น มีเมฆหมอกมืดครึ้มเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมีหิมะตกในฤดูหนาว ส่วนพื้นที่ฝั่งซันโยจะมีสภาพอากาศอบอุ่นมากกว่า และไม่ค่อยมีฝนตกมากนัก ถือว่าเป็นสภาพอากาศที่สบายๆสำหรับนักท่องเที่ยว

ชูโกกุเป็นภูมิภาคที่เจริญรุ่งเรืองด้านการค้าขายทางทะเลมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากมีท่าเรือเป็นจำนวนมาก ทำให้ภูมิภาคนี้โดดเด่นทั้งเรื่องการค้าขายตามสไตล์เมืองท่าและการเป็นแหล่งรวมอาหารทะเลรสเลิศ

นอกจากนี้ชูโกกุยังมีสถานที่ท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมที่โดดเด่นอยู่หลายแห่ง เช่น “ศาลเจ้าอิทสึคุชิมะ” ที่หลายๆคนรู้จักกันดีในนาม “มิยาจิมะ” หรือศาลเจ้าที่มีเสาโทริอิขนาดใหญ่ยักษ์ตั้งอยู่กลางน้ำ รวมถึง “ศาลเจ้าอิซุโมะ” ในจังหวัดชิมาเนะซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

Back To Index

ภูมิภาคชิโกกุ (Shikoku Region)

“ภูมิภาคชิโกกุ” (Shikoku Region) เป็นภูมิภาคเล็กๆที่ตั้งอยู่บนเกาะชิโกกุของประเทศญี่ปุ่น โดยมีสะพานเซโตะโอฮาชิ (Great Seto Bridge) เป็นจุดเชื่อมระหว่างภูมิภาคชูโกกุและภูมิภาคชิโกกุ ภูมิภาคชิโกกุนั้นประกอบไปด้วย 4 จังหวัด คือ คากาวะ โคจิ เอฮิเมะ และโทคุชิมะ

ชิโกกุเป็นภูมิภาคที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ชื่นชอบบรรยากาศแบบชายทะเลหรือภูเขาอันอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยภูเขา เทือกเขา และหุบเขา ผู้คนท้องถิ่นจึงมักจะปลูกบ้านเรือนและอาศัยอยู่ตามพื้นที่แนวชายฝั่ง

ด้วยภูมิประเทศที่ดูแปลกตา เราจึงสามารถพบสถานที่ท่องเที่ยวริมชายทะเลได้มากมายที่ชิโกกุ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าที่ตั้งอยู่บนภูเขาและมองเห็นวิวทะเล หรือสะพานที่เป็นจุดชมน้ำวนขนาดใหญ่ เป็นต้น

ในส่วนของวิถีชีวิตท้องถิ่น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของชิโกกุอุดมไปด้วยธรรมชาติ ผู้คนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก ทำให้ชิโกกุเป็นภูมิภาคที่สร้างผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเกษตรให้แก่ประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากค่ะ

Back To Index

ภูมิภาคคิวชู (Kyushu Region)

ภูมิภาคคิวชู (Kyushu Region) ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของเกาะฮอนชู ประกอบไปด้วย 8 จังหวัด คือ ฟุกุโอกะ ซากะ นางาซากิ โออิตะ มิยาซากิ คุมาโมโตะ คาโกชิม่า และจังหวัดโอกินาว่าซึ่งเราจะกล่าวถึงแยกออกไปในหัวข้อถัดไป

พื้นที่ของภูมิภาคคิวชูส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยธรรมชาติ ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวอันซีนมากมาย ทั้งประเภททะเล ภูเขา หุบเขา ภูเขาไฟ ทะเลสาบ น้ำตก

และที่โด่งดังอย่างมากก็คือ ‘ออนเซ็น’ โดยตัวอย่างของเมืองออนเซ็นที่มีชื่อเสียงในคิวชูก็คือ เมืองเบปปุ (Beppu) และเมืองยูฟุอิน (Yufuin) ในจังหวัดโออิตะ หรือเมืองอิบุสึกิในจังหวัดคาโกชิม่า

เมืองเบบปุ จังหวัดโออิตะ

ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของคิวชูคือภูมิภาคนี้มีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ‘ภูเขาไฟอาโสะ’ จังหวัดคุมาโมโตะ ภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงระดับโลกพร้อมด้วยวิวที่ราบภูเขาไฟอันแสนตระการตา หรือ ‘ภูเขาไฟซากุระจิมะ’ ภูเขาไฟที่ยิ่งใหญ่และสวยงามอันเป็นดั่งสัญลักษณ์ของจังหวัดคาโกชิม่า

ภูเขาไฟซากุระจิมะ จังหวัดคาโกชิม่า

ส่วนเรื่องสภาพอากาศ ด้วยความที่ภูมิภาคคิวชูตั้งอยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นจึงมีอากาศอบอุ่นเกือบตลอดทั้งปี เหมาะแก่การท่องเที่ยวสายธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ผืนแผ่นดินของคิวชูยังเต็มไปด้วยแร่ธาตุสำคัญหลากหลายชนิด ยิ่งเมื่อรวมกับที่ตั้งซึ่งอยู่ติดทะเลแล้ว ภูมิภาคคิวชูจึงมีวัตถุดิบและของกินอร่อยๆอย่างครบครันเลยค่ะ

Back To Index

โอกินาว่า (Okinawa)

หลายๆคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า “โอกินาว่า” เป็นเขตปกครองพิเศษหรือภูมิภาคหนึ่ง แต่ความจริงแล้วโอกินาว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของภูมิภาคคิวชูค่ะ อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของจังหวัดนี้ เราจึงขอเล่าถึงจังหวัดโอกินาว่าแยกออกมาจากภูมิภาคคิวชูนะคะ

“โอกินาว่า” เป็นจังหวัดที่น่าสนใจด้วยวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง “วัฒนธรรมริวกิว” หรือวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่แถบนี้ในสมัยที่โอกินาว่ายังเป็นอาณาจักรริวกิวและไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น วัฒนธรรมดังกล่าวนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมพื้นเมืองของชาวริวกิว วัฒนธรรมญี่ปุ่น วัฒนธรรมจีน และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วัฒนธรรมริวกิวอาจถูกกลืนหายไปบ้างในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา แต่กลิ่นอายก็ยังคงปรากฏให้เห็นตามสถานที่ต่างๆบนเกาะ อีกทั้งโอกินาว่าเคยเป็นเมืองท่าเก่าแก่ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับชาวต่างชาติอยู่บ่อยครั้ง พื้นที่ของเกาะโอกินาว่าจึงเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนี้ในภายหลังยังมีประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพทหารในโอกินาว่าอีกด้วย ทำให้สถาปัตยกรรมหลายแห่งบนเกาะโอกินาว่ามีกลิ่นอายตะวันตกสอดแทรกอยู่ด้วยค่ะ

ด้วยเหตุนี้ในแง่ของการท่องเที่ยว จังหวัดโอกินาว่าจึงเต็มไปด้วยสถานที่น่าสนใจมากมายทั้งแนวธรรมชาติและแนวประวัติศาสตร์วัฒนธรรม โอกินาว่าจึงเป็นสถานที่ในฝันของนักท่องเที่ยวทั่วโลกด้วยท้องทะเลที่สวยงาม อควาเรียมที่เต็มไปด้วยสัตว์น้ำหายาก ปราสาทเก่าแก่ที่มีสถาปัตยกรรมแบบริวกิว หมู่บ้านโบราณ และสถานที่อื่นๆอีกมากมาย

เรียกได้ว่าโอกินาว่าเป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความหลากหลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนที่ไหนๆในประเทศญี่ปุ่นค่ะ

Back To Index

2. การเมือง การปกครอง และประชากร

ประเทศญี่ปุ่นมีระบบการเมืองการปกครองภายใต้ “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา โดย​มี​สมเด็จพระ​จักรพรรดิ​ทรง​เป็น​ประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” กล่าวคือประเทศญี่ปุ่นมี​รัฐสภา​เป็น​สถาบัน​สูงสุด​ของ​รัฐ โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นประมุขและมี​นายกรัฐมนตรี​เป็น​หัวหน้า​คณะ​รัฐบาลนั่นเอง

ธงชาติญี่ปุ่น

ธงประจำชาติประเทศญี่ปุ่นหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฮิโนะมารุ” (Hinomaru) เป็นธงที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (สมัยเมจิที่ 3) มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว ตรงกลางจะเป็นรูปวงกลมสีแดงที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์

เพลงประจำชาติญี่ปุ่น

เพลงประจำชาติของประเทศญี่ปุ่นนั้นมีชื่อว่า “Kimigayo” (君が代) ได้รับการจดทะเบียนเป็นเพลงประจำชาติตามกฎหมายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999 แต่ทว่าเพลง Kimigayo เวอร์ชั่นที่ใช้ทำนองดังเช่นปัจจุบันได้ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยเมจิ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเริ่มใช้ธงชาติญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ส่วนเนื้อหาของเพลงชาติญี่ปุ่นนั้น กล่าวกันว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวีโบราณซึ่งคาดว่าถูกแต่งขึ้นในช่วงยุคสมัยเฮอัน หรือราวๆปี ค.ศ. 794–1192 ความหมายของเพลงชาติญี่ปุ่นนั้นเป็นการอวยพรให้ผู้นำและชาติญี่ปุ่นเจริญรุ่งเรืองและมีอายุยืนยาว ดั่งเช่นธุลีที่ใช้เวลายาวนานในการทับถมกันจนกระทั่งกลายเป็นภูผาสูงตระหง่าน

นอกจากนี้ เพลงชาติญี่ปุ่นยังนับว่าเป็นเพลงประจำชาติที่สั้นที่สุดในโลกด้วยค่ะ

ประชากรญี่ปุ่น

ตามที่ได้กล่าวไปตอนต้น แม้ว่าพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นจะมีขนาดเล็กกว่าประเทศไทย แต่ทว่าประชากรชาวญี่ปุ่นนั้นมีจำนวนมากกว่าประเทศไทยหลายเท่า โดยประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรทั้งหมด 128 ล้านคน และเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากที่สุดคือจังหวัดโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นค่ะ

แต่ในปัจจุบันประชากรชาวญี่ปุ่นมีจำนวนลดลงทุกปี เนื่องจากอัตราการเกิดลดลงและจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้คนร้อยละ 30 ของประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในขณะเดียวกันประเทศญี่ปุ่นก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ผู้คนมีอายุยืน โดยอายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 84 ปี ผู้ชายจะมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 81 ปี และผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 87 ปี

Back To Index

3. การเงิน เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม

เงินและธนบัตรญี่ปุ่น

สกุลเงินของประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า “เยน” โดยประกอบไปด้วยธนบัตร 10,000 / 5,000 / 2,000 / 1,000 เยน ส่วนเงินเหรียญประกอบด้วยเหรียญ 500 / 100 / 50 / 10 / 5 / 1 เยน

เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และประเทศญี่ปุ่นก็กลายเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้หลายๆประเทศต่างจับตามอง

ก่อนที่ประเทศญี่ปุ่นจะกลายมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในเอเชียนั้น เศรษฐกิจภายในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมงเป็นหลัก โดยผลผลิตทางการเกษตรหลักของญี่ปุ่นจะเป็น “ข้าว”

ข้าวที่คนญี่ปุ่นนำมาบริโภคส่วนใหญ่เป็นข้าวที่ผลิตขึ้นในประเทศโดยเฉพาะ แต่ทว่าพื้นที่การเพาะปลูกภายในประเทศค่อนข้างมีอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนของประชากรภายในประเทศ ปริมาณการปลูกผลผลิตจำพวกข้าวสาลี ถั่วเหลือง และพืชผลอื่นๆจึงจำกัดตามไปด้วย ดังนั้นญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้มาจากต่างประเทศแทน

Vasin Lee / Shutterstock

ในทางกลับกันประเทศญี่ปุ่นยังมีทรัพยากรด้านการประมงอย่างล้นหลาม นั่นเป็นเพราะว่าญี่ปุ่นตั้งอยู่ท่ามกลางทะเล ดินแดนแห่งนี้จึงไม่ขาดแคลนอาหารทะเลเลยค่ะ นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมประมงอีกด้วย

Joshua Davenport / Shutterstock

เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เจริญก้าวหน้าสืบต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ. 1950 ญี่ปุ่นก็ได้กลายมาเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นจำแนกเป็นอุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ อุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิ และอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ คือ การทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง เช่น เกษตรกรรม ป่าไม้ เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และประมง
  • อุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิ คือ การทำอุตสาหกรรมที่นำวัตถุดิบมาใช้การผลิตสิ่งต่างๆ เช่น การก่อสร้าง การผลิตเครื่องมือ อาหารสำเร็จรูป เหล็กแผ่น การก่อสร้างอาคาร ฯลฯ โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น
  • อุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิ คือ การทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น การค้า การเงิน การขนส่ง การโทรคมนาคม การธนาคาร และการบริการต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมินับว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีอย่างมากจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ด้านการขนส่ง ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัยเป็นอันดับต้นๆของโลก ไม่ว่าจะเป็นท้องถนนที่เอื้อต่อการขับขี่ บริการด้านการบินที่มีมาตรฐาน หรือรถไฟความเร็วสูงอย่าง “รถไฟชินคันเซ็น” ซึ่งเป็นรถไฟด่วนพิเศษที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 285 ถึง 603 กม./ชม.

Samuel Ponce_Shutterstock

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศญี่ปุ่นยังมีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เอื้อต่อการเดินทางเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตารางรถไฟของญี่ปุ่นที่มีความแม่นยำสูงและตรงต่อเวลา นอกจากนี้รถไฟชินคันเซ็นยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในระบบรถไฟที่รวดเร็วและปลอดภัยที่สุดในโลก

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นเปิดให้บริการรถไฟเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้มีเส้นทางรถไฟที่วิ่งเชื่อมกันไปได้ทั่วประเทศ รถไฟจึงกลายเป็นยานพาหนะหลักที่คนญี่ปุ่นใช้ในการเดินทาง

Bandit Chanheng / Shutterstock

ประเทศญี่ปุ่นยังคงพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นจุดแข็งของประเทศ นอกจากระบบขนส่งที่ทันสมัยแล้ว อุตสาหกรรมด้านยานยนต์ของญี่ปุ่นก็เฟื่องฟูด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า ฮอนด้า ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการขยายบริษัทยานยนต์ไปยังต่างประเทศอีกมากมาย

Back To Index

4. ศาสนา

หลายคนๆอาจจะตั้งคำถามว่าคนญี่ปุ่นนับถือศาสนาอะไร? หรือศาสนาประจำชาติของประเทศญี่ปุ่นคืออะไร?

บางคนก็คาดเดาว่าคนญี่ปุ่นนับถือศาสนาพุทธ เพราะเห็นคนญี่ปุ่นจัดงานศพแบบชาวพุทธ แต่พอไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วก็พบว่าคนญี่ปุ่นสักการะศาลเจ้า ทำให้สงสัยว่าหรือจริงๆแล้วพวกเขาจะนับถือศาสนาชินโต? แต่หลังจากนั้นก็เห็นงานแต่งงานที่ญี่ปุ่นจัดเป็นพิธีแบบตะวันตกเหมือนศาสนาคริสต์อีก หรือแท้จริงแล้วคนญี่ปุ่นจะไม่ได้นับถือศาสนาอะไรเลย?

หากทุกคนสงสัย วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับศาสนาในประเทศญี่ปุ่นกันค่ะ

จุดเริ่มต้นของศาสนาในประเทศญี่ปุ่น

ว่ากันว่าการนับถือศาสนาในประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นในสมัยโจมง (ยุคโบราณญี่ปุ่น) ซึ่งคนญี่ปุ่นในสมัยนั้นจะนับถือผี หรือที่เรียกกันว่า ‘วิญญาณนิยม’ (Animism) โดยเชื่อว่าในธรรมชาติรอบตัวมีผีหรือวิญญาณอาศัยอยู่

ย้อนกลับไปในยุคสมัยโคฟุง ญี่ปุ่นได้เริ่มเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญทางด้านศาสนาเป็นครั้งแรก นั่นก็คือการเข้ามาของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น ศาสนาพุทธในแดนอาทิตย์อุทัยนั้นล้วนได้รับอิทธิพลมาจากชาวจีนที่อพยพมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและได้ทำการเผยแผ่ศาสนาพุทธ รวมไปถึงลัทธิขงจื๊อ ด้วยเหตุนี้อารยธรรมญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน

หลังจากศาสนาพุทธเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ช่วงประมาณศตวรรษที่ 6 ก็ได้มีความเชื่อใหม่เกิดขึ้นในแวดวงศาสนาญี่ปุ่น ซึ่งก็คือศาสนา “ชินโต” นั่นเอง ศาสนาชินโตนั้นไม่มีศาสดาหรือคัมภีร์ที่เป็นรูปธรรมเหมือนกับศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ หรือศาสนาอิสลาม แต่ศาสนาชินโตจะเชื่อเรื่องการบูชาธรรมชาติ ซึ่งคนญี่ปุ่นในสมัยก่อนจะเชื่อว่า “พระเจ้าล้วนสถิตอยู่ในโลกแห่งธรรมชาติ ทั้งท้องฟ้า ภูเขา ทะเล และแม่น้ำ” นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังเชื่อด้วยว่าเมื่อบรรพบุรุษเสียชีวิตไปแล้ว พวกเขาจะไปสถิตอยู่ในธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้คนญี่ปุ่นจึงนับถือและบูชาทุกสิ่งที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด

นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังนิยมสร้างศาลเจ้าหรือเสาโทริอิสีแดงที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของเทพเจ้าเอาไว้ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆเพื่อกราบไหว้บูชาอีกด้วย

พระพุทธรูปไดบุตสึขนาดใหญ่ ณ วัดโทไดจิ

ต่อมาศาสนาพุทธและชินโตได้กลายเป็นศาสนาที่คนญี่ปุ่นนับถือควบคู่กันเป็นส่วนใหญ่ โดยอ้างอิงจากวัดโทไดจิที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยนารา (ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดนารา) ภายในวัดจะมีพระพุทธรูปไดบุตสึองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้นับถือแค่ศาสนาชินโตเท่านั้น

ความบิดเบือนในยุคศาสนาชินโต หรือศาสนาคริสต์จะกลายเป็นนิกายชั่วร้าย?

เรือโปรตุเกสที่ท่าเรือนางาซากิในช่วงศตวรรษที่ 17
ที่มา (Ref.) : Kanō Naizen / https://en.wikipedia.org/wiki/File:NanbanCarrack.jpg

จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างที่ 2 ของวงการศาสนาในญี่ปุ่นคือ การเข้ามาของศาสนาคริสต์ในช่วงยุคสมัยเอโดะ ในสมัยนั้นชาวตะวันตกได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองนางาซากิซึ่งเป็นเมืองท่าของญี่ปุ่นในสมัยก่อน โดยในขณะนั้นมีชาวตะวันตกอาศัยอยู่ราวๆ 500,000 คน

นักบวชในศาสนาคริสต์กับคนญี่ปุ่นกำลังประกอบพิธีกรรมของศาสนาคริสต์
ที่มา (Ref.) : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Christian-Mass-in-Japan-Nanban-Screen-Kano-Naizen-c1600-(cropped).png

หลังจากชาวตะวันตกเข้ามาในญี่ปุ่นก็เริ่มมีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้กับชาวญี่ปุ่น ในตอนนั้นศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่มีอิทธิพลต่อคนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ทำให้คนญี่ปุ่นบางส่วนเริ่มหันมาศรัทธาและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์กันมากขึ้น

ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลเมจิยังได้มีการบังคับให้คนญี่ปุ่นหันมานับถือเพียงศาสนาเดียวเท่านั้น คือศาสนาพุทธ และมีการออกมาชี้แจงเกี่ยวกับศาสนาชินโตว่า “ชินโตไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา”

ภาพการทรมานคริสต์ศาสนิกชนให้สารภาพผิด
โดยการห้อยหัวพวกเขาแล้วหย่อนลงไปในบ่อสิ่งปฏิกูล

ที่มา (Ref.) : GETTY IMAGES

ภายใต้การปกครองระบอบโชกุนในสมัยเมจิ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงการเติบโตของศาสนาคริสต์ที่รวดเร็วจนเกินไป และกลัวว่าคนญี่ปุ่นจะหันไปนับถือศาสนาคริสต์กันหมด ท่ามกลางความปั่นป่วนภายในประเทศ รัฐบาลเมจิจึงตัดสินใจกวาดล้างชาวตะวันตกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์จนหมดสิ้น โดยคนเหล่านั้นสามารถเลือกได้ว่าจะยอมละทิ้งศาสนาคริสต์หรือจะยอมถูกลงโทษ ในตอนนั้นคาดว่ามีคนจำนวน 2,000 คนยอมถูกทรมานเพื่อแลกกับความศรัทธาที่มีต่อศาสนา การกวาดล้างในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการทำลายศรัทธาลงนั่นเอง

“ชินโตแห่งรัฐ” และการบูชาจักรพรรดิดั่งเทพเจ้า

ในช่วงปลายยุคเมจิ ศาสนาชินโตได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งจากแนวคิดที่ต้องการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมชาติตะวันตก จนเกิดแนวคิดที่เรียกว่า “ชินโตแห่งรัฐ” (State Shinto) ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐบาลในยุคปฏิรูปเมจิสร้างขึ้นและผลักดันอย่างต่อเนื่อง ชินโตแห่งรัฐเป็นการนำประเพณีความเชื่อต่างๆของศาสนาชินโตมาใช้ในการสร้างความภักดีต่อจักรพรรดิ โดยรัฐบาลได้ให้เหตุผลในการสนับสนุนแนวคิดนี้ว่า เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาติ รวมถึงบูรณาการความสามัคคีและความจงรักภักดีเข้าด้วยกัน และว่ากันว่า “ชินโตแห่งรัฐ” เป็นจุดกำเนิดความชาตินิยมของประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

ที่มา (Ref.) : https://ameblo.jp/jtkh72tkr2co11tk317co/entry-12715380477.html

ต่อมาความเชื่อที่เกิดจากแนวคิดชินโตแห่งรัฐแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยเป็นผลมาจากเงินสนับสนุนของรัฐบาลที่มอบให้เหล่านักบวชและพระสงฆ์ในการเผยแผ่หลักคำสอนของลัทธินี้ ในช่วงเวลาเดียวกันญี่ปุ่นก็ได้เกิดสงครามภายในประเทศขึ้น ส่งผลให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงบุคคลสำคัญอีกหลายคน

ศาลเจ้ายาสุคุนิ

yu_photo_Shutterstock

หลังจากมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลเมจิจึงสร้าง “ศาลเจ้ายาสุคุนิ” (Yasukuni Shrine) ขึ้น ซึ่งปัจจุบันศาลเจ้ายาสุคุนิตั้งอยู่ที่จังหวัดโตเกียว และนับว่าเป็นศาลเจ้าสำคัญของศาสนาชินโต

จริงๆแล้วการสร้างศาลเจ้าเพื่อบูชาคนตายนั้นเป็นเพียงความเชื่อตามศาสนาชินโตเกี่ยวกับโลกหลังความตายของคนสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันคนสมัยนี้มองว่าศาลเจ้ายาสุคุนิเป็นเพียงอนุสรณ์สถานที่สร้างไว้เพื่อระลึกถึงบุคคลสำคัญเท่านั้น

หลังจากประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้และยอมจำนนในสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนก็เริ่มหมดศรัทธาในศาสนาและเชื่อว่าชินโตเป็นตัวจุดชนวนการทำสงคราม ผู้คนจึงเริ่มหันไปศรัทธาในศาสนาหรือลัทธิอื่นๆ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายในประเทศญี่ปุ่นได้เกิดลัทธิใหม่ๆขึ้นเป็นจำนวนมาก ลัทธิเหล่านี้ล้วนได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธลัทธิขงจื๊อ ศาสนาคริสต์ และศาสนาชินโต

ในปัจจุบันญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีความเสรีด้านการนับถือศาสนา และประชากรส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไม่นับถือศาสนาใดๆเลย ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นเพราะกฎเกณฑ์ของศาสนาที่เคร่งเกินไปสำหรับพวกเขา

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ศาสนาชินโตนับว่าเป็นศาสนาอันดับหนึ่งที่ผู้คนในแดนอาทิตย์อุทัยนับถือ และในปัจจุบันศาสนาชินโตก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับคนญี่ปุ่นเสมอมา

Back To Index

5. สภาพอากาศและธรรมชาติ

ประเทศญี่ปุ่นมีฤดูกาลทั้งหมด 4 ฤดู ประกอบไปด้วยฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว

ฤดูใบไม้ผลิ 🌸

ฤดูใบไม้ผลิของประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม

อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในช่วงฤดูใบไม้ผลิจะอยู่ที่ประมาณ 5-23 องศาเซลเซียส เหมาะสำหรับคนที่ขี้หนาวแต่ก็อยากลองมาสัมผัสอากาศหนาวดูสักครั้ง ขอแนะนำให้มาเที่ยวในช่วงนี้เลยค่ะ

นอกจากจะได้สัมผัสอากาศหนาวแล้ว ฤดูกาลนี้ยังเป็นช่วงที่ดอกซากุระบานด้วยค่ะ เรียกได้ว่าเป็นฤดูที่เราจะได้เห็นดอกไม้ผลิบานอย่างงดงาม คนไทยหลายๆคนจึงมักจะบินลัดฟ้ามาชมดอกซากุระในช่วงนี้กันเป็นส่วนใหญ่ค่ะ

ฤดูร้อน ☀️

KenSoftTH / Shutterstock

ฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม

อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อนจะอยู่ที่ประมาณ 26-37 องศาเซลเซียส อากาศฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นนั้นร้อนขึ้นทุกๆปี แต่แม้ว่าอากาศจะร้อนเพียงใด ฤดูนี้ก็เป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นนิยมเที่ยวงานเทศกาลมากที่สุดค่ะ

หากพูดถึงหน้าร้อนญี่ปุ่นก็ต้องคู่กับเทศกาลดอกไม้ไฟค่ะ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือคนญี่ปุ่นเองก็ล้วนรอคอยช่วงเวลาที่จะได้ชมดอกไม้ไฟริมแม่น้ำในฤดูร้อนค่ะ

ฤดูใบไม้ร่วง 🍁

ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน

อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของฤดูใบไม้ร่วงในญี่ปุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 14–28 องศาเซลเซียส ฤดูนี้เป็นอีกหนึ่งฤดูที่คนไทยนิยมเลือกเดินทางมาเที่ยวที่ญี่ปุ่น เพราะอากาศช่วงนี้ถือว่าเย็นสบายกำลังดี ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป อีกทั้งยังเป็นฤดูกาลที่ใบเมเปิลผลัดใบและเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงสลับกับส้มเหลือง ทำให้วิวทิวทัศน์ของญี่ปุ่นในฤดูนี้สวยงามตระการตาอย่างมาก เหมาะแก่การมาท่องเที่ยวและถ่ายรูปเป็นที่สุดค่ะ

ฤดูหนาว ❄️

ฤดูหนาวของประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์

อุณหภูมิเฉลี่ยของฤดูหนาวในญี่ปุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 2–12 องศาเซลเซียส (บางปีอุณหภูมิอาจติดลบในบางพื้นที่) ฤดูหนาวของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในฤดูที่หลายๆคนชื่นชอบเพราะเป็นช่วงที่หิมะตก โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศอย่างภูมิภาคฮอกไกโดและทะเลญี่ปุ่น พื้นที่ส่วนนี้จะมีหิมะตกหนักเป็นพิเศษ นอกจากนี้ฤดูหนาวยังเป็นช่วงที่มีงานเทศกาลให้เที่ยวชมมากมาย เช่น เทศกาลแกะสลักน้ำแข็งสุดขึ้นชื่อที่จะจัดขึ้นในเมืองซัปโปโรทุกปี

  • * หมายเหตุ : สภาพอากาศตามข้อมูลด้านบนเป็นเพียงภาพรวมของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ในแต่ละวันอุณหภูมิของแต่ละจังหวัดในประเทศญี่ปุ่นจะแตกต่างกันเนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน หากใครกำลังจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โปรดตรวจสอบสภาพอากาศอีกครั้งในเว็บไซต์ทางการของประเทศญี่ปุ่น

ธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่น 🗻

ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านป่าไม้ของโลก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศประมาณ 70% เป็นผืนป่าทั้งหมด

นอกจากนี้ ด้วยความที่ญี่ปุ่นตั้งอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ แดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยภูเขาไฟในทุกๆภูมิภาค โดยภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงและเป็นดั่งสัญลักษณ์ประจำประเทศญี่ปุ่นคือ “ภูเขาไฟฟูจิ” (Mt. Fuji) ด้วยความสูงถึง 3,776 เมตร ภูเขาไฟลูกนี้จึงนับว่าเป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น ที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิจะอยู่ระหว่างจังหวัดชิซูโอกะและจังหวัดยามานาชิ

ภูเขาไฟฟูจิปะทุครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน แม้ว่าจะไม่ได้มีการปะทุมานาน แต่ในอนาคตเราก็ไม่อาจทราบได้ว่าภูเขาไฟฟูจิจะปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลาค่ะ

หมู่บ้านชิราคาวาโกะ (Shirakawa-go)

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติและป่าไม้เป็นอย่างมาก อีกทั้งสถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นหลายๆแห่งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) อีกด้วย เช่น หมู่บ้านชิราคาวาโกะ จังหวัดกิฟุ

Back To Index

6. วัฒนธรรมและภาษา

“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศเกาะที่ล้อมรอบด้วยทะเล อีกทั้งยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ ดังนั้นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่นคือการกระทำที่ไม่ขัดต่อหลักธรรมชาติและให้คุณค่ากับทุกๆสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ

ทุกประเทศล้วนมีวัฒนธรรมของตนเอง ญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเช่นกัน วัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงปรากฏให้เห็นเด่นชัดในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นตราบจนปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะว่าประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นอย่างมากนั่นเอง

วัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั้นสามารถแตกแยกย่อยไปได้หลายแขนง ในครั้งนี้เราจะยกตัวอย่างวัฒนธรรมเด่นๆของญี่ปุ่นให้ทุกคนได้รู้จักกันค่ะ

วัฒนธรรมการแต่งกาย

ชุดกิโมโน ชุดประจำชาติประเทศญี่ปุ่น

“ชุดกิโมโน” เป็นเครื่องแต่งกายโบราณและชุดประจำชาติของญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติ ดังนั้นชุดกิโมโนจึงถูกออกแบบให้ดูเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยเสน่ห์ แนวคิดในการออกแบบชุดกิโมโนคือการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งภายในจิตใจและความอ่อนน้อมถ่อมตนอันเป็นเอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นผ่านทางเครื่องแต่งกาย

ในสมัยก่อนคนญี่ปุ่นจะสวมชุดกิโมโนในบางฤดูกาลเนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องวัสดุในการทำชุดกิโมโน ส่วนปัจจุบันคนญี่ปุ่นจะใส่ชุดกิโมโนเฉพาะในวันสำคัญเท่านั้นค่ะ

วัฒนธรรมการชงชา

พิธีชงชา

“ชา” นั้นเริ่มมีการนำเข้ามาสู่ญี่ปุ่นในช่วงสมัยคามาคุระ โดยว่ากันว่ามีพระรูปหนึ่งนำชามาจากประเทศจีน ต่อมาในสมัยมูโรมาจิ พระผู้มีนามว่า มุราตะ จูโกะ (Murata Juko) ได้ริเริ่มการทำพิธีชงชาแบบญี่ปุ่น รวมถึงห้องชงชาและอุปกรณ์ชงชาแบบเรียบง่ายดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

“พิธีชงชา” เป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ไม่ใช่เพียงการดื่มชาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะขั้นตอนการชงชาและเสิร์ฟให้แขกยังนับว่าเป็นพิธีกรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบ อีกทั้งยังแฝงไปด้วยธรรมเนียมประเพณีและแนวคิดที่สวยงามอีกด้วย เช่น ‘โอโมเตะนาชิ’ (Omotenashi) หรือจิตวิญญาณของการบริการ และ ‘วาบิซาบิ’ (Wabi-Sabi) ปรัชญาการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นที่เชื่อในความไม่สมบูรณ์แบบ การปล่อยให้สรรพสิ่งต่างๆมีตำหนิ หรือมีร่องรอยตามธรรมชาติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา

นอกจากนี้การชงชายังเป็นวัฒนธรรมที่หลอมรวมศิลปะต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น มารยาทในการบริการแขก การจัดเตรียมห้องชงชา การเตรียมอุปกรณ์พิธีชงชา และการทำขนมญี่ปุ่น เป็นต้น

วัฒนธรรมอาหาร

ซูชิ

“ข้าว” เป็นวัตถุดิบหลักของอาหารญี่ปุ่น เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักมาตั้งแต่สมัยโจมง (ยุคโบราณของญี่ปุ่น) เราจึงกล่าวได้ว่าอาหารญี่ปุ่นมีต้นกำเนิดในสมัยโจมงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้นกำเนิดของการทำนามาจากทวีปยุโรป เราจึงไม่สามารถเรียกการทานข้าวว่า “วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น” ได้อย่างเต็มที่นัก

ว่ากันว่าวัฒนธรรมอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นในสมัยเฮอัน ในยุคนั้นศาสนาพุทธนิกายเซนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดังนั้นน้ำซุปของญี่ปุ่นอย่าง ‘ดาชิ’ จึงเริ่มถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักในการทำอาหารญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าพระนิกายเซนไม่สามารถทานเนื้อสัตว์ได้ พวกท่านจึงเริ่มรับประทานถั่วเหลืองกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงอาหารญี่ปุ่นชาวต่างชาติส่วนใหญ่ก็ต้องนึกถึง “ซูชิ” อย่างแน่นอน เพราะเป็นเมนูอาหารที่มีเอกลักษณ์ อร่อย ทานง่าย อีกทั้งยังได้รับความนิยมจากทั่วโลก

ว่ากันว่า “เอโดะมาเอะซูชิ” เป็นต้นแบบของซูชิที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน สมัยก่อนผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเอโดะได้ชื่อว่าเป็นคนใจร้อน แต่ซูชิเป็นเมนูอาหารที่สามารถทำและเสิร์ฟได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเอโดะมาเอะซูชิจึงได้รับความนิยมอย่างมากค่ะ

อาหารญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีกระบวนการทำที่ประณีต ด้วยเหตุนี้อาหารญี่ปุ่นจึงค่อยๆโด่งดังมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาที่ญี่ปุ่นกันเป็นจำนวนมากเพื่อค้นหาร้านอาหารท้องถิ่นรสเด็ดนั่นเองค่ะ!

วัฒนธรรมประจำเมือง

ชินจูกุ

หลายๆคนอาจสงสัยว่า “เมืองของญี่ปุ่น” สามารถเป็นวัฒนธรรมได้ด้วยเหรอ? เราขอยกตัวอย่างเมืองในโตเกียว เช่น ชินจูกุ ฮาราจูกุ และชิบูย่า เมืองเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งแสงสีที่แสดงถึงความคึกคักของญี่ปุ่นในยามค่ำคืน อีกทั้งยังสร้างความบันเทิงให้กับผู้คนในประเทศและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

ถนนซันเนซากะ

ในทางกลับกัน นอกจากแสงสีสุดตระการตาแล้วนักท่องเที่ยวจำนวนมากยังนิยมมาเที่ยวเมืองเก่าแก่อย่างเกียวโตหรือนารา เพราะที่นี่มีวัดเก่าแก่และพระพุทธรูปใหญ่หลายองค์ ซึ่งเมืองเหล่านี้ก็ได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่นค่ะ

ภาษาญี่ปุ่น

ภาษาญี่ปุ่นมีตัวอักษรทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ ฮิรางานะ คาตาคานะ และคันจิ หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินมาว่าตัวอักษรคันจิของญี่ปุ่นนั้นคล้ายคลึงกับภาษาจีน แน่นอนว่าตัวคันจิในภาษาญี่ปุ่นจำนวนมากมีต้นกำเนิดมาจากภาษาจีน แต่ก็ไม่ใช่ภาษาที่เหมือนกันทั้งหมด ว่ากันว่าในแง่ของไวยากรณ์ ภาษาญี่ปุ่นจะคล้ายกับภาษาเกาหลีมากกว่า เนื่องจากมีการผันรูปกริยาไปตามประธานของประโยคเหมือนกัน

ที่มาของตัวอักษรฮิรางานะที่ลดรูปจากตัวอักษรคันจิ

ที่มาของตัวอักษรคาตาคานะที่ลดรูปมาจากตัวอักษรคันจิ

ในช่วงศตวรรษที่ 9 (สมัยนาราตอนปลายและสมัยเฮอันตอนต้น) ได้เริ่มมีการคิดค้นตัวอักษรฮิรางานะและคาตาคานะขึ้น โดยตัวอักษรฮิรางานะและคาตาคานะเป็นตัวอักษรที่สำคัญสำหรับการอ่านและแปลตัวอักษรคันจิหรือภาษาจีนค่ะ

“คูไค” หนึ่งในสามนักประดิษฐ์ตัวอักษรสมัยเฮอันตอนต้น
ร่วมกับจักรพรรดิซางะและ Tachibana no Hayanari

ที่มา (Ref.) : https://kareinaruyakusaihanten.com/2021/05/09/post-198/

ในสมัยนั้นตัวฮิรางานะจะถูกใช้โดยผู้หญิงเป็นหลัก โดยใช้สำหรับเขียนบทกวีและวากะ (บทกวีประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น) ในทางกลับกันตัวคาตาคานะจะใช้ในวัดพุทธเพื่อแปลหนังสือจากภาษาจีนเป็นภาษาญี่ปุ่นค่ะ

ในปัจจุบันภาษาญี่ปุ่นจะใช้ตัวอักษรทั้ง 3 แบบร่วมกัน โดยตัวอักษรฮิรางานะมีทั้งหมด 46 ตัว ใช้สำหรับคำกริยา

‘โอคุริกานะ’ (Okurigana) คือ คานะ หรือตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ต่อท้ายตัวคันจิ คำคุณศัพท์ อนุภาค (คำช่วยเสริมประโยคในภาษาญี่ปุ่น) และคำที่ไม่มีตัวอักษรคันจิ

ส่วนตัวอักษรคาตาคานะมีทั้งหมด 46 ตัวเช่นเดียวกับฮิรางานะ ส่วนใหญ่จะใช้ทับศัพท์ภาษาต่างประเทศและชื่อเฉพาะของต่างประเทศ

สำหรับตัวอักษรคันจินั้นมีจำนวนตัวอักษรที่ไม่แน่นอน หากเทียบตามพจนานุกรมแล้วจะมีประมาณ 100,000 คำ อย่างไรก็ตาม ตัวคันจิที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้ในชีวิตประจำวันจะมีประมาณ 3,000 คำ

*.。.*゚*.。.*゚*

“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมความเชื่อคล้ายประเทศไทยอยู่หลายอย่าง รวมถึงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและน่าสนใจหลายแห่ง พร้อมด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ดีและเอื้อต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว อีกทั้งผู้คนส่วนใหญ่ยังได้รับการปลูกฝังให้รักความสะอาด มีระเบียบ และใส่ใจต่อการแยกขยะ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าญี่ปุ่นมีพื้นที่ภายในประเทศค่อนข้างน้อย

ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวทั้งหมดทั้งมวลของแดนอาทิตย์อุทัย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนไทยหลายๆคนถึงเลือกให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศในดวงใจที่ต้องบินไปเที่ยวให้ได้สักครั้งในชีวิต

ใครที่ไม่เคยมาเยี่ยมเยือนดินแดนซากุระแห่งนี้ ลองหาโอกาสมาทำความรู้จักประเทศญี่ปุ่นกันให้ได้สักครั้งนะคะ วิวทิวทัศน์อันแปลกตา อาหารที่แสนอร่อย และวัฒนธรรมที่งดงาม จะทำให้ทุกคนประทับใจจนต้องหาโอกาสกลับมาเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยๆอย่างแน่นอน 🌸

แหล่งอ้างอิง (Reference)

Ministry of Foreign Affairs of Japan
column.aiai-navi.com
pref.okinawa.jp
trans-euro.jp
kanjitisiki.com
https://jpnculture.net/kanji-hiragana-katakana/
https://web-japan.org/kidsweb/ja/explore/economy/
benesse.jp
https://www.nippon.com/ja/in-depth/a02901/
https://www.jinjahoncho.or.jp/shinto/shinto_izanai/
https://www.mskj.or.jp/thesis/9211.html
gendai.media
https://www.bbc.com/japanese/features-and-analysis-50542213
https://haa.athuman.com/media/japanese/culture/885/
https://www.asoview.com/note/2788/
http://www.trhd.jp/so-ten/column/detail04.html

อ่านบทความอื่นๆจาก fromJapan

มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ!

รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!

ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ

Back To Top