fbpx

การถูกล่วงละเมิดโดยไม่สัมผัสบนรถไฟญี่ปุ่น มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น!

ต.ค. 24, 2024

การถูกล่วงละเมิดโดยไม่สัมผัสบนรถไฟญี่ปุ่น มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น!

การถูกล่วงละเมิดบนรถไฟในญี่ปุ่นดูเหมือนจะเป็นปัญหาทางสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างการสัมผัสร่างกายของผู้หญิงบนรถไฟหรือที่เรียกว่า ‘จิกัง’ (Chikan) ถือว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบัน เริ่มมีเทคนิคการลวนลามใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดยประเด็นหลักที่เราจะนำมาเล่าสู่ทุกคนฟังในครั้งนี้คือ การลวนลามโดยไม่สัมผัสที่กระทำแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสที่จะเกิดอาชญากรรมสูงในอนาคต!

การถูกล่วงละเมิดโดยไม่สัมผัสบนรถไฟญี่ปุ่น เป็นการล่วงละเมิดอันน่ารังเกียจที่มักจะใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของเหยื่อที่ไม่สามารถพูดออกมาได้ เนื่องจากความรู้สึกกลัวหรือความละอายใจ ยกตัวอย่างเช่น การหายใจผ่านต้นคอหรือการดมกลิ่นผมของผู้หญิง ซึ่งมีหลายกรณีที่เหยื่อเป็นผู้หญิงได้มีการร้องเรียนเรื่องนี้บนโซเซียลมีเดีย แต่ก็เป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าความเสียหายนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และถ้าหากเกิดขึ้นจริง คนที่ตกเป็นเหยื่อก็คงทำได้เพียงแค่หลั่งน้ำตาและหวาดระแวงกับสิ่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า!

‘ในทุกเช้า ผู้ชายคนเดิมจะเดินเข้ามาหาฉันในระยะใกล้ๆ’

พนักงานออฟฟิศหญิงวัย 20 ปี อาศัยอยู่ในภูมิภาคคันโต ได้ออกมาแชร์เหตุการณ์การถูกลวนลามทุกเช้า ในเวลาเดียวกัน และบนรถไฟขบวนเดียวกันโดยไม่ได้แตะต้องตัว ซึ่งวิธีการก็คือ เขาจะเดินเข้ามาใกล้เกินความจำเป็น จากนั้นลมหายใจอุ่นๆของเขาก็เริ่มพัดผ่านคอของเธอจากระยะใกล้ และแน่นอนว่ามันคือผู้ชายคนเดิมเสมอ

“แม้จะไม่ได้ถูกสัมผัสทางร่างกาย แต่มันก็รู้สึกน่ารังเกียจจริงๆ”

พนักงานออฟฟิศหญิงคนนี้ไม่สามารถทนต่อความรู้สึกอันน่าขยะแขยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายวันได้ เธอจึงไปร้องเรียนกับทางตำรวจรถไฟที่สถานีที่ใกล้ที่สุด แต่สิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่คำพูดแสดงความเห็นอกเห็นใจ แต่เป็นคำว่า “ไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิดใช่ไหม?” และไม่มีการสอบสวนอย่างละเอียดเพราะให้เหตุผลว่า ผู้ชายคนนั้นเขาไม่ได้สัมผัสตัวเธอ และที่ยิ่งไปกว่านั้น ทางด้านครอบครัวของเธอก็มีปฏิกิริยาเช่นเดียวกัน พร้อมกับบอกว่า ‘ไม่ใช่ว่าลูกเปิดโอกาสหรอ อย่าใส่ใจเกินไปเลย’

ทางด้านพนักงานออฟฟิศหญิงคนนี้ก็เริ่มสับสนและรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจตัวเองเลย แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป เธอยังคงเดินทางด้วยรถไฟตามปกติ แต่การถูกลวนลามนั้นกลับยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก จนตัวเธอเองเกิดคำถามขึ้นมากมายว่า การกระทำแบบนี้มันคือสิ่งที่ไม่ควรทำไม่ใช่หรอ ไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เธอพูดเลย หรือนั่นหมายความว่าผู้ชายคนนั้นไม่ได้ทำอะไรผิดใช่ไหม การหนีเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรอหรือต้องทนอยู่กับมันแบบนี้ต่อไป!

ในท้ายที่สุดแล้ว พนักงานออฟฟิศหญิงคนนี้ก็ต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกลวนลามโดยไม่สัมผัสแบบนี้เป็นประจำทุกวันในเวลาหลายเดือน จนเธอเริ่มหายใจเร็วเกินกว่าปกติและเกิดอาการแพนิค เธอรู้สึกว่าเธอไม่สามารถนั่งรถไฟได้อีกต่อไป ทางบริษัทจึงให้ลาพักงานชั่วคราวเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

35% ของนักศึกษามหาวิทยาลัยตกเป็นเหยื่อ

CircleApp เว็บไซต์เกี่ยวกับบริการการวิจัยที่เชี่ยวชาญเรื่อง “Generation Z” ได้มีสำรวจนักศึกษาชายและหญิงประมาณ 200 คนเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2024 พบว่าร้อยละ 35 หรือผู้หญิงจำนวน 1 ใน 3 คนกล่าวว่า พวกเขาตกเป็นเหยื่อของ ‘การล่วงละเมิดโดยไม่สัมผัส’

โดยภัยจากการถูกล่วงละเมิดโดยไม่สัมผัสนั้นจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป นอกจากการพยายามเดินเข้ามาประชิดตัวและและดมกลิ่นในขณะที่อยู่บนรถไฟแล้ว พฤติกรรมที่เรียกว่า ‘โทนารา’ หรือการที่คนๆนั้นเข้ามานั่งข้างใครสักคนโดยที่นั่งอื่นยังว่างอยู่ รวมถึงการส่งรูปภาพและวิดีโอลามกอนาจารผ่านฟังก์ชันมือถือที่เรียกว่า AirDrop ก็ถือว่าเข้าข่ายลักษณะการล่วงละเมิดโดยไม่สัมผัส

ทางด้าน ‘เคียวชิ มิกะ’ ที่ปรึกษาด้านการป้องกันอาชญากรรมและนักอาชญาวิทยาชี้ให้เห็นว่า การลวนลามโดยไม่สัมผัสตัว ยกเว้นการส่งสื่ออนาจารผ่านฟังก์ชัน AirDrop นั้นมีมานานแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุผลการร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดโดยไม่สัมผัสเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาของอินเทอร์เน็ตที่ช่วยขยายโอกาสให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อได้กล้าออกมาแชร์เรื่องราวของตน และกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นเมื่อคำว่า ‘คนโรคจิตที่ชอบลวนลามแบบไม่สัมผัส’ เริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในโลกโซเซียลฯญี่ปุ่น

เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป้องกันเหตุรำคาญ

ตามที่ทนาย ‘ชิมิสึ ชุน’ จากสำนักงานกฎหมายโยโกฮาม่าโกโดะกล่าวว่า การกระทำต่างๆ เช่น การหายใจรดต้นคอ การดมผม และการนั่งอยู่เบาะข้างๆแม้จะมีที่นั่งอื่นว่างอยู่ถือเป็นสถานที่สาธารณะหรือยานพาหนะสาธารณะ หากพฤติกรรมดังกล่าวได้รับการตัดสินว่าเป็นพฤติกรรมลามกอนาจารในลักษณะที่น่าอับอายหรือทำให้คนๆนั้นรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากก็ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายป้องกันเหตุรำคาญ  

ในบางกรณีอย่าง การเป่าต้นคอของบุคคลอื่นก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ การส่งรูปภาพและวิดีโอลามกอนาจารผ่านฟังก์ชัน AirDrop ก็อาจถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมข้อหาเผยแพร่หรือส่งต่อสื่อลามกอนาจาร

อย่างไรก็ตาม ทางด้านทนายชิมาสึยังชี้ให้เห็นอีกว่า “การระบุตัวผู้กระทำผิดและการป้องกันหลักฐานเพื่อนำไปใช้พิสูจน์ตามกฎหมายอาญานั้นเป็นเรื่องยาก และในความเป็นจริง การดำเนินคดีความรับผิดทางอาญาและทางแพ่งก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน” 

ป้องกันตัวด้วยการมองและการไอ

ถ้าหากการพิสูจน์เป็นเรื่องยาก การป้องกันตัวเองคือทางเลือกเดียวที่เราจะทำได้ นั่นก็คือ ‘แสดงอาการไม่สบาย’ เพื่อสังเกตปฏิกิริยาของผู้ชายผ่านการกระทำ เช่น หันกลับมาแล้วจ้องมองและการไอ หรือถ้าหากยังถูกล่วงละเมิดอยู่ก็จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้คนรอบตัวโดยใช้คำพูดและการแสดงออกทางสีหน้า และสามารถร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่สถานีหรือตำรวจได้เช่นเดียวกับการถูกล่วงละเมิดอื่นๆ

ที่มา

https://www.sankei.com/article/20241016-PK5YV6TTHJCBJJCKRXUQQOWA3M/

อ่านบทความสนุกๆจาก fromJapan 🥰

มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ! 😉

รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!

ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ

Back To Top