fbpx

ฟันดำเท่ากับสวย! ชวนรู้จัก ‘โอฮากุโระ’ ค่านิยมความงามสุดแปลกของสาวญี่ปุ่นโบราณ

มี.ค. 20, 2024

ฟันดำเท่ากับสวย! ชวนรู้จัก ‘โอฮากุโระ’ ค่านิยมความงามสุดแปลกของสาวญี่ปุ่นโบราณ

เวลาที่เราดูละครไทยโบราณย้อนยุคต่างๆ สิ่งที่เรามักพบเห็นกันบ่อยจนเรียกได้ว่าเป็นทั้งแฟชั่นและค่านิยมของคนยุคโบราณเลยก็คือการทำ ‘ฟันดำ’

ในฐานะคนไทย เราเชื่อว่าหลายๆคนคงรู้ที่มาที่ไปของแฟชั่นฟันดำจากการเคี้ยวหมากของคนไทยเป็นอย่างดี แต่เพื่อนๆรู้ไหมคะว่าญี่ปุ่นก็เคยมียุคที่สาวๆนิยมทาฟันให้ดำเหมือนกันนะ! 😯

แต่ว่าคนญี่ปุ่นเขาจะทำฟันดำไปทำไมนั้น วันนี้ fromJapan จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘โอฮากุโระ’ ค่านิยมการทำฟันดำของผู้หญิงญี่ปุ่นโบราณและที่มาที่ไปของมันกันค่ะ 👇

สารบัญ (Index)

👄🦷👄🦷👄🦷👄🦷

‘โอฮากุโระ’ คืออะไร?

โอฮากุโระ

ที่มา (Ref.) : commons.wikimedia.org

โอฮากุโระ (お歯黒/ Ohaguro) มีความหมายตรงตัวตามภาษาญี่ปุ่นว่า ฟันดำ ต้นกำเนิดของการทำโอฮากุโระยังเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ ไม่มีใครทราบว่าเทรนด์การทำฟันดำแบบนี้ในญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่ยุคใด เพียงแต่ทราบกันว่าการทำโอฮากุโระนั้นกลายเป็นที่นิยมในช่วงสมัยเฮอัน (Heian) หรือราวๆ ค.ศ. 794 – 1185 โดยเฉพาะในหมู่สตรีชนชั้นสูง การทำฟันดำเป็นเสมือนสูตรสำเร็จที่สาวๆต้องทำเพื่อให้ตนเองดูสวยขึ้น

โอฮากุโระ

ที่มา (Ref.) : printsofjapan.com

วิธีการที่จะทำให้ฟันเป็นสีดำก็แตกต่างกันออกไปค่ะ แต่หลักๆจะใช้ส่วนผสมเหล่านี้ ได้แก่ ผงตะไบเหล็ก ไวน์ข้าว ชา และที่ขาดไม่ได้คือน้ำส้มสายชูค่ะ เมื่อนำทั้งหมดที่ว่าผสมกันแล้วก็จะได้สีทาฟันดำเรียกว่า คาเนะมิสึ (かねみず/ Kanemizu) โดยสาวๆจะต้องหมั่นทาหมั่นย้อมฟันของตัวเองอยู่เสมอเพราะเจ้าคาเนะมิสึนี้ไม่ค่อยติดทนค่ะ (แถมหลายคนยังบอกว่ามันมีกลิ่นเหม็นมากอีกด้วย)

โอฮากุโระ

ที่มา (Ref.) : kiryoku.it

มาถึงตรงนี้เพื่อนๆอาจจะงงว่าการมีฟันดำแบบนี้ทำให้สวยขึ้นอย่างไร?

เรื่องของเรื่องก็คือหนึ่งในเทรนด์ฮิตด้านความสวยงามของญี่ปุ่นในยุคนั้น คือการพอกแป้งให้หน้าขาว ตัวขาว ผิวขาว ซึ่งคนญี่ปุ่นในยุคนั้นเชื่อกันว่ายิ่งผิวขาวก็จะยิ่งดูสวย

แต่สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาเรื่องหน้าขาวกว่าฟันน่ะสิ! แล้วในสมัยนั้นยังไม่มีกรรมวิธีมาช่วยจัดการปัญหาฟันเหลือง ถึงจะแต่งหน้าขาวสวยแค่ไหน แต่ยิ้มแล้วเห็นฟันเหลืองก็ดูไม่ค่อยสวยงามค่ะ ดังนั้นการทำโอฮากุโระจึงเข้ามาแก้ปัญหาในจุดนี้

ในเมื่อทำให้ฟันขาวขึ้นไม่ได้ก็ทำให้มันดำไปเลยสิ!

โอฮากุโระ

แต่นอกจากเรื่องความสวยความงามแล้ว คนญี่ปุ่นในยุคนั้นยังเชื่อว่าการทำฟันดำจะช่วยลดการเสื่อมสภาพของฟันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันโรคฟันผุ โรคปริทันต์และช่วยให้ฟันแข็งแรงขึ้น (โอ้โห้)

โอฮากุโระ

ที่มา (Ref.) : upload.wikimedia.org

อย่างไรก็ตามแม้การทำฟันดำโอฮากุโระจะได้รับความนิยมในหมู่สาวๆญี่ปุ่นยุคนั้น แต่ก็มีสาวๆบางคน โดยเฉพาะหญิงชนชั้นสูงที่แทบกรี๊ดเพราะไม่อยากทำฟันดำ

พวกเธอมองว่าการทำฟันดำนั้นค่อนข้างน่าเกลียดแถมยังมีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์อีก ทำให้การจะเปิดปากพูดหรือยิ้มแต่ละครั้งเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจ

แต่สุดท้ายสาวๆเหล่านั้นก็หนีไม่พ้น รวมถึงโดนดุอีกว่า เป็นสตรีชนชั้นสูงเขาไม่ยิ้มเห็นฟันกันนะ ดังนั้นก็ย้อมๆให้ฟันดำไปซะไม่มีใครมาเห็นหรอก เอ๊า!

Back To Index

‘โอฮากุโระ’ กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในญี่ปุ่น

โอฮากุโระยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แต่ก็ยังถือว่าเป็นค่านิยมความงามของชนชั้นสูงเท่านั้น จนเมื่อถึงยุคเอโดะ (ค.ศ. 17 – 19) โอฮากุโระจึงได้แพร่กระจายความนิยมจากชนชั้นสูงลงไปถึงชนชั้นทางสังคมอื่นๆ คราวนี้ไม่ใช่แค่สาวๆลูกหลานขุนนางเท่านั้นที่จะได้ทำฟันดำ แต่บรรดาลูกตาสีตาสาก็นิยมย้อมฟันตนเองให้ดำขลับเช่นกันค่ะ 🖤

แต่ในยุคนี้นี่เองที่ความหมายของการทำฟันดำได้เปลี่ยนจากความสวยงามหรือการรักษาสุขภาพช่องปากไปเป็นในเรื่องอื่น โดยหญิงสาวที่ย้อมฟันดำนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสาวโสดอายุ 18 ปีขึ้น ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ไปจนถึงโสเภนีและเกอิชา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโอฮากุโระจะได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน แต่ทุกอย่างย่อมมีจุดสิ้นสุดค่ะ ในตอนที่ประเทศญี่ปุ่นเดินทางมาถึงช่วงยุคเมจิ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศญี่ปุ่นให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยสิ่งที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ก็คือวัฒนธรรมและค่านิยมจากต่างประเทศ อาทิ การมีฟันที่ขาวสวย

ปีค.ศ. 1870  รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฏ ห้ามย้อมฟันดำ และเปลี่ยนมาสนับสนุนให้ประชาชนรักษาฟันให้ขาวสะอาดแทน และต่อมาในปี ค.ศ. 1873 เทรนด์ ‘ฟันขาว’ นี้ก็ถูกยอมรับจากประชาชนโดยทั่วไป เมื่อจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นในขณะนั้นได้ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนพร้อมกับฟันขาวที่เปล่งประกายของเธอ 🦷✨

ไม่นานหลังจากนั้น การมี ฟันขาว ก็กลายเป็นเทรนด์ฮิตด้านความงามของสาวๆแดนอาทิตย์อุทัย ส่วนโอฮากุโระก็ค่อยๆหายไปจากสังคมของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันเราจะยังสามารถพบเห็นการย้อมฟันดำเช่นนี้ได้ในบางโอกาสพิเศษ เช่น ภาพยนตร์ การแสดงพื้นบ้าน หรือตามเทศกาลต่างๆค่ะ

Back To Index

ค่านิยมความงามที่แพร่หลายในเอเชียและอเมริกาใต้!

อย่างที่เราได้กล่าวไปตอนต้นของบทความว่า การทำฟันดำนั้นคนไทยอย่างๆเราต่างรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะครั้งหนึ่งในสยามประเทศก็เคยมีเทรนด์ความงามที่คล้ายคลึงกันนี้อยู่

ที่มา (Ref.) : today.line.me

แต่ทุกคนเชื่อไหมคะว่าเทรนด์นี้ไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่นและไทยเท่านั้น แต่การทำฟันดำเป็นค่านิยมความงามที่แพร่หลายในประเทศแถบเอเชีย อาทิ ทางตอนใต้ของจีน ทางตะวันออกของอินเดีย พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย และบรรดาหมู่เกาะอีกมากมาย

โดยเฉพาะในเวียดนาม ว่ากันว่าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการย้อมฟันดำของเวียดนามมีมายาวนานถึง 2,000 ปีก่อนคริสตกาลค่ะ แต่เมื่อเทียบกันแล้ว กรรมวิธีการย้อมฟันดำของเวียดนามออกจะคล้ายกับประเทศไทยมากกว่าทางญี่ปุ่น โดยวิธีการก็ง่ายดายไม่ซับซ้อน แค่เพียงนำหมากมาเคี้ยว (เหมือนบ้านเราเลยค่ะ) แต่ที่แตกต่างออกไปก็คงจะเป็นความเชื่อเรื่องฟันดำที่ไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงามหรือสุขภาพช่องปาก แต่ชาวเวียดนามยังเชื่อว่าฟันดำจะช่วยปกป้องสาวๆจากสิ่งชั่วร้ายอีกด้วย

ที่มา (Ref.) : https://morefuntravel.com

ในขณะเดียวกันทางแถบเอเชียใต้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามและตามชนเผ่าต่างๆ การย้อมฟันดำนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยของหญิงสาว

โดยสิ่งที่ใช้ทำให้ฟันดำถูกเรียกว่า Missī แปลว่าน้ำยาฟอกสีฟัน ซึ่งคล้ายคลึงกับคาเนะมิสึของญี่ปุ่น แต่การใช้ Missī นั้นมีความหลากหลายมากกว่า หลายๆครั้งมันก็ถูกใช้สำหรับทาขอบปากและตกแต่งบริเวณอื่นๆ จะว่าไปแล้วเจ้าสิ่งนี้ก็เหมือนเป็นเครื่องสำอางชิ้นหนึ่งเลยนะ

ที่มา (Ref.) : www.semanticscholar.org

ไม่หมดเพียงเท่านั้น จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าการย้อมสีฟันดำนั้นปรากฏอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งที่ห่างใกล้จากเอเชียอย่างแถบอเมริกาใต้ด้วย ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าค่านิยมความงามอย่างการย้อมฟันให้เป็นสีดำนั้นไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมที่อาจมีความเป็นมาที่ซับซ้อนและเก่าแก่กว่าที่เรารู้กันในปัจจุบันมากค่ะ 

Back To Index

เมื่อฟันดำอาจหมายถึงปีศาจร้าย?

หลังจากเราได้ทำความรู้จักการย้อมฟันดำหรือโอฮากุโระกันไปแล้วในหัวข้อก่อนๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจได้ก็คือโอฮากุโระนั้นเป็นมาตรฐานความงามของสาวญี่ปุ่นโบราณโดยแท้

ดังนั้นการมีฟันดำจึงดูเป็นเรื่องที่ดีมาตลอด แต่ทุกคนทราบไหมคะว่าในบรรดาเรื่องเล่าสุดหลอนจากปีศาจในแดนอาทิตย์อุทัยกลับมีปีศาจที่เกี่ยวข้องกับการย้อมฟันดำด้วย! 

ปีศาจตนนั้นก็คือ เจ้าสาวฟันดำหรือโอฮากุโระ เบ็ตตาริ (お歯黒べったり/ Ohaguro Bettari) โดยเจ้าปีศาจตนนี้มักจะจำแลงกายเป็นหญิงสาวในชุดแต่งงานญี่ปุ่่นและมักปรากฏกายออกมาหลอกหลอนชายหนุ่มที่อยู่คนเดียวในช่วงพลบค่ำ 

ที่มา (Ref.) : yokai.fandom.com

บ้างก็ว่าโอฮากุโระ เบ็ตตาริ จะปลอมตัวเป็นภรรยาที่รอสามีอยู่ภายในบ้าน แต่วิธีการหลอกก็จะคล้ายๆกันคือ มันจะปกปิดใบหน้าของตนเองเอาไว้ หรือทำเป็นหันหลังให้หนุ่มผู้เคราะห์ร้ายเห็นเพียงด้านหลังแล้วคิดว่ามันเป็นสาวสวย และไม่แน่ว่าเป็นเสน่ห์หรือมนต์จากภูติผีก็ตาม เมื่อผู้เคราะห์ร้ายตามมันไปหรือพยายามจะพูดคุยด้วย โอฮากุโระ เบ็ตตาริก็จะเผยโฉมสุดสะพรึงของมันที่ทำให้เอาผู้เคราะห์ร้ายรายนั้นอาจเป็นลมหมดสติไปได้

นั่นก็เพราะว่าเจ้าปีศาจตนนี้มีเพียงใบหน้าสีขาวซีด ไม่มีลูกตาและจมูก แต่จะมีปากใหญ่ๆพร้อมกับฟันสีดำ (บางตำนานบอกว่ามันมีฟันแหลมคมด้วย)  😱

ที่มา (Ref.) : The Night Parade of 100 Demons by Matthew Meyer

ส่วนที่มาที่ไปของโอฮากุโระ เบ็ตตาริ ว่ากันว่าปีศาจตนนี้กำเนิดจากความเศร้าโศกของหญิงสาวที่ถูกเจ้าบ่าวทิ้งในวันแต่งงาน เมื่อสิ้นใจจึงกลายเป็นวิญญาณที่จ้องจะเล่นงานชายหนุ่มทุกคนที่พบหล่อนนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ปีศาจตนนี้ไม่มีพิษมีภัยต่อคนค่ะ ถ้าไม่นับเรื่องที่ชอบหลอกให้ตกใจ พวกมันก็ไม่มีเจตนาที่จะมุ่งเอาชีวิตคนหรือทำให้บาดเจ็บแต่อย่างใด ✨

ที่มา (Ref.)

👄🦷👄🦷👄🦷👄🦷

และนี่คือทั้งหมดของเรื่องราวการทาฟันดำของสาวๆญี่ปุ่นโบราณ หรือที่เรียกกันว่า ‘โอฮากุโระ’ ค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับบทความที่เรานำมาให้ทุกคนอ่านกันในวันนี้ ได้สาระและความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับญี่ปุ่นกันเลยใช่ไหม 🥰

ก่อนจะจากกันไปในวันนี้ ใครที่ยังอ่านไม่จุใจก็สามารถเลือกอ่านบทความดีๆจาก fromJapan ในลิ้งก์ด้านล่างได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีค่ะ 🙏

อ่านบทความสนุกๆจาก fromJapan ✨

มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ!

รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!

ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ

Back To Top