รู้หรือไม่! คนญี่ปุ่นชอบทำอะไรในช่วงปีใหม่
ธ.ค. 25, 2023
รู้หรือไม่! คนญี่ปุ่นชอบทำอะไรในช่วงปีใหม่
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประเพณีอันหลากหลายสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ หนึ่งในนั้นคือประเพณีที่ปฏิบัติกันในช่วงวันปีใหม่นั่นเองค่ะ แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่า คนญี่ปุ่นชอบทำอะไรในช่วงปีใหม่ จะมีธรรมเนียมปฏิบัติคล้ายกับของไทยหรือเปล่า?
ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปดูประเพณีและกิจกรรมที่คนญี่ปุ่นนิยมทำในช่วงปีใหม่กันค่ะ 🥳
สารบัญ (Index)
- 1. รู้จักกับความเชื่อเรื่องวันปีใหม่ของญี่ปุ่น
- 2. ให้การ์ดอวยพรปีใหม่ หรือส่ง SNS อวยพรปีใหม่
- 3. ทำความสะอาดบ้านช่วงสิ้นปี
- 4. นำ “ต้นคาโดมัทสึ” ไปตั้งไว้หน้าบ้าน
- 5. แขวน “ชิเมะคาซาริ” ไว้หน้าบ้าน
- 6. จัดวาง “คากามิโมจิ” ไว้บนแท่นบูชา
- 7. ตีระฆังส่งท้ายปีเก่า
- 8. ทาน “โทชิโคชิโซบะ”
- 9. ชมพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปี
- 10. ไหว้พระครั้งแรกของปี
- 11. ทานอาหารแบบ “โอเซจิ เรียวริ”
- 12. ทานซุปโอโซนิ
- 13. แจกเงินรับขวัญปีใหม่ “โอโทะชิดามะ” ให้แก่ครอบครัว
1. รู้จักกับความเชื่อเรื่องวันปีใหม่ของญี่ปุ่น
ในสมัยก่อนคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะกลายเป็นเทพเจ้าแห่งนาข้าวและภูเขา เมื่อถึงช่วงปีใหม่ วิญญาณเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเทพเจ้า “โทชิกามิ” (Toshigami / 年神様) หรือเทพเจ้าแห่งปีใหม่ เพื่อคอยเฝ้าดูความเจริญก้าวหน้าของลูกหลาน และเพื่อเป็นการต้อนรับเทพเจ้าโทชิกามิ ประเพณีและกิจกรรมต่างๆจึงได้กำเนิดขึ้นในวันปีใหม่นั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้วที่ญี่ปุ่นจะมีการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 7 มกราคม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาคด้วยค่ะ
2. ให้การ์ดอวยพรปีใหม่ หรือส่ง SNS อวยพรปีใหม่
ที่ประเทศญี่ปุ่น การส่งการ์ดอวยพรปีใหม่เพื่อมอบคำทักทายต้อนรับปีใหม่หรือเอ่ยคำขอบคุณสำหรับปีที่ผ่านมาให้กับเพื่อน ญาติ หรือคนที่ช่วยเหลือคุณในที่ทำงานนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยภายในการ์ดอวยพรมักจะมีรูปถ่ายครอบครัวหรือใส่ภาพสัญลักษณ์ประจำราศีหรือปีนักษัตรลงไป แต่ทว่าในปัจจุบัน ผู้คนเริ่มนิยมส่งข้อความอวยพรผ่านทางอีเมลและ SNS แทนแล้วค่ะ
อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นหลายๆคนก็ยังนิยมส่งการ์ดอวยพรปีใหม่ให้กันอยู่ เพราะข้อความที่เขียนเองให้ความรู้สึกประทับใจแตกต่างจากการได้รับคำอวยพรผ่านอีเมลหรือผ่าน SNS ค่ะ
3. ทำความสะอาดบ้านช่วงสิ้นปี
การทำความสะอาดบ้านในวันสิ้นปีนั้นกล่าวกันว่ามีรากฐานมาจากพิธี “ซุซุฮาราอิ” หรือพิธีทำความสะอาด โดยจะจัดขึ้นที่ศาลเจ้าและวัดในวันที่ 13 ธันวาคมของทุกปี เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีความเชื่อกันว่า ‘เทพเจ้าโทชิกามิ’ ซึ่งเป็นวิญญาณบรรพบุรุษจะกลับมาบ้านในวันปีใหม่ ด้วยเหตุนี้ที่ญี่ปุ่นจึงมีธรรมเนียมการทำความสะอาดแท่นบูชาภายในบ้าน ว่ากันว่านี่คือจุดเริ่มต้นของธรรมเนียมที่คนญี่ปุ่นมักจะทำความสะอาดในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีค่ะ
4. นำ “ต้นคาโดมัทสึ” ไปตั้งไว้หน้าบ้าน
ต้นคาโดมัทสึ (Kadomatsu) คือของตกแต่งที่ทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายให้เทพเจ้าโทชิกามิสามารถพบเจอเราได้ง่าย ปกติแล้วจะใช้ไม้ไผ่และต้นสนเป็นองค์ประกอบหลัก คนญี่ปุ่นจะนิยมนำต้นคาโดมัทสึไปตั้งไว้ที่หน้าประตูบ้าน โดยจะตั้งประดับไว้ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคมถึง 7 มกราคม
5. แขวน “ชิเมะคาซาริ” ไว้หน้าบ้าน
ชิเมะคาซาริ (Shimekazari) เป็นของตกแต่งที่มีความหมายเช่นเดียวกับต้นคาโดมัทสึ โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะนิยมแขวนชิเมะคาซาริไว้ตรงทางเข้าบ้านหรือแท่นบูชา ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคมถึง 7 มกราคม นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังเชื่อกันว่าการแขวนชิเมะคาซาริไว้ที่ทางเข้าบ้านจะช่วยป้องกันเคราะห์ร้ายจากภายนอกอีกด้วย
6. จัดวาง “คากามิโมจิ” ไว้บนแท่นบูชา
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ของตกแต่งบ้านในช่วงปีใหม่อย่างต้นคาโดมัทสึและชิเมะคาซารินั้นเปรียบดั่งสัญลักษณ์ของการต้อนรับเทพเจ้าแห่งปีที่มาเยือนบ้านในช่วงปีใหม่ ส่วน คากามิโมจิ (Kagami Mochi) นั้นเปรียบเสมือนตัวแทนวัตถุของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เพื่ออัญเชิญให้เทพเจ้าโทชิกามิมาสถิต
คากามิโมจิเป็นของตกแต่งที่ทำมาจากโมจิ โดยทั่วไปแล้วจะใช้โมจิรูปร่างแบน 2 ลูก และส้มซ่าขนาดใหญ่ 1 ลูกในการทำ ทั้งนี้รูปร่างการประกอบคากามิโมจิก็จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค
ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นจะนำคากามิโมจิมาตั้งไว้ที่แท่นบูชาประจำบ้านตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคมถึง 11 มกราคม หรือถ้าหากว่าบ้านหลังใดไม่มีแท่นบูชา ให้นำไปวางไว้ในมุมอับของบ้านหรือตั้งไว้ให้ห่างจากทางเข้าบ้านจะดีที่สุด
7. ตีระฆังส่งท้ายปีเก่า
เสียงระฆังส่งท้ายปีเก่าจะดังขึ้นภายในวัดตอนประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม วัดหลายๆแห่งจะมีการจัดงานเทศกาลตีระฆังส่งท้ายปีจำนวน 108 ครั้ง กล่าวกันว่าถ้าหากเราฟังเสียงตีระฆังครบ 108 ครั้ง ความปรารถนาของเราจะสมหวัง
8. ทาน “โทชิโคชิโซบะ”
โทชิโคชิโซบะ (Toshikoshi Soba) เป็นเมนูที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสมัยเอโดะ โดยส่วนผสมและชื่อเรียกของเมนูนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค คนญี่ปุ่นนิยมทานโทชิโคชิโซบะกันในช่วงตอนเย็นของวันส่งท้ายปีเก่า เพื่อเป็นการขอพรให้ตนมีอายุยืนยาวและสุขภาพดี
นอกจากนี้ เส้นโซบะยังมีความหมายโดยนัยว่า “ตัดความโชคร้ายในปีนี้ออกไป” เนื่องจากเส้นโซบะเป็นเส้นที่ตัดง่ายกว่าเส้นชนิดอื่นๆนั่นเอง
9. ชมพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปี
ว่ากันว่าการมาชมแสงอาทิตย์แรกของปีนั้นนับว่าเป็นฤกษ์มงคลของผู้ที่มาชม นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังมีความเชื่อว่าเทพเจ้าโทชิกามิจะปรากฏเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรกของปี ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงนิยมมาชมพระอาทิตย์ขึ้น รวมถึงสวดขอพรต่อเทพเจ้าและตั้งปณิธานสำหรับปีนั้นๆ
- อ่านข้อมูลเพิ่มเติม >>> ชวนชมปรากฏการณ์ “ไดมอนด์ซากุระจิมะ” ดวงอาทิตย์ตกบนยอดภูเขาไฟซากุระจิมะ
10. ไหว้พระครั้งแรกของปี
เมื่อเข้าสู่วันแรกของปี คนญี่ปุ่นจะนิยมเดินทางไปไหว้พระขอพรที่วัดและศาลเจ้าเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อปีที่ผ่านมา รวมถึงขอพรให้ปลอดภัยและสงบสุขในปีใหม่
นอกจากนี้ ภายในวัดและศาลเจ้าก็จะมีเครื่องราง ฮายามะ (Hayama) กังหันลม และแผ่นไม้เอมะไว้เขียนความปรารถนาและเป้าหมายของเราลงไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ศาลเจ้าบางแห่งยังมีสาเกหวาน (Amazake) และสาเกศักดิ์สิทธิ์ (Omiki) ให้บริการอีกด้วยค่ะ
11. ทานอาหารแบบ “โอเซจิ เรียวริ”
โอเซจิ เรียวริ (Osechi Ryori) เป็นสำรับอาหารมงคลสำหรับเทศกาลปีใหม่ของญี่ปุ่น โดยอาหารที่บรรจุลงไปในในจูบาโกะ (กล่องใส่อาหารที่มีลักษณะคล้ายกล่องเบนโตะ) นั้นยังมีความหมายว่า “ความสุขที่เพิ่มพูน” อีกด้วย
นอกจากนี้ ส่วนผสมและเมนูอาหารที่จะบรรจุลงไปในแต่ละชั้นแต่ละช่องก็จะมีความแตกต่างกันไป เนื่องจากมีการกำหนดเมนูอาหารของแต่ละชั้น รวมถึงความหมายของแต่ละเมนูที่ใส่ลงไปด้วยนั่นเอง
12. ทานซุปโอโซนิ
โอโซนิ (Ozoni Soup) เป็นเมนูที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ว่ากันว่าผู้คนเริ่มทานเมนูนี้กันมาตั้งแต่สมัยเฮอัน ในสมัยนั้นโมจิถือว่าเป็นอาหารมงคลของคนญี่ปุ่น โดยเหล่าเกษตรกรจะนิยมทานโมจิกันในโอกาสพิเศษเท่านั้น กล่าวกันว่าจุดเริ่มต้นการทำซุปโอโซนิมาจากการนำเผือก โมจิ แครอท หัวไชเท้า ฯลฯ มาเคี่ยวบนกองไฟที่ก่อขึ้นครั้งแรกของปี
โอโซนิเป็นอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยคนญี่ปุ่นจะนิยมทานเมนูนี้กับครอบครัวในช่วงปีใหม่ ซึ่งช่วงเวลาในการทานโอโซนินั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค แต่โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มทานกันในวันที่ 3 ของเดือน (วันที่ 1-3 มกราคม)
13. แจกเงินรับขวัญปีใหม่ “โอโทะชิดามะ” ให้แก่ครอบครัว
เดิมที โอโทะชิดามะ (Otoshidama) นั้นไม่ใช่การแจกเงินใส่ซองให้กับเด็กๆในวันปีใหม่ ในสมัยก่อนความหมายของโอโทะชิดามะคือ ‘มารุโมจิ’ หรือโมจิทรงกลมที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้ของเทพเจ้าโทชิกามิในวันปีใหม่ แต่หลังจากถวายเครื่องเซ่นไหว้ดังกล่าวนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว คนญี่ปุ่นก็มักจะแจกเงินให้กับสมาชิกในครอบครัวและคนรับใช้ นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของการให้เงินแก่เด็กๆในช่วงปีใหม่ ซึ่งในภายหลังเรียกว่า “โอโทะชิดามะ” นั่นเองค่ะ
อ่านบทความสนุกๆจาก fromJapan
- เปิดโพล “เพลงฮิตช่วงคริสต์มาสที่ญี่ปุ่น” บอกเลยงานนี้ไม่ฟังไม่ได้แล้ว🎄
- ผุดไอเดียสุดกาว! จะเป็นอย่างไรหาก “มาม่าคัพนิสชิน” ไม่ได้เป็นแค่ถ้วยใส่เส้นมาม่าเท่านั้น!!
- เทพเจ้าเหมียวกับ ‘ประวัติศาสตร์แมวในญี่ปุ่น’
มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ!
รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!
ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ