fbpx

ทำไมคนเกียวโตถึงวาง ‘หินอิเคซุ’ ไว้ที่มุมบ้าน?

พ.ค. 28, 2024

ทำไมคนเกียวโตถึงวาง หินอิเคซุ’  ไว้ที่มุมบ้าน?

“หินอิเคซุ” ทุกคนเคยได้ยินชื่อนี้กันไหมเอ่ย?

เพื่อนๆเคยสงสัยไหมว่า ทำไมตามตรอกซอกซอยใน ‘เกียวโต’ ถึงวางก้อนหินไว้มุมบ้าน? หรือวางไว้เพื่อขับไล่ภูติผีปีศาจตามความเชื่อ แล้วในภูมิภาคอื่นๆในญี่ปุ่นละ จะวางก้อนหินไว้มุมบ้านแบบเกียวโตหรือเปล่า? วันนี้ fromJapan จะพาทุกคนมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ 😉

ในอดีต ‘เกียวโต’ เคยเป็นเมืองหลวงญี่ปุ่นที่ประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี มีวัฒนธรรมที่แตกต่างเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งการวางหินไว้ตามมุมบ้านแบบนี้ก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกียวโตยังคงเป็นเมืองหลวงอยู่

ที่มารูปภาพ : dekitateyo / Shutterstock.com

หินที่วางไว้ตามมุมบ้านนี้เรียกว่า “หินอิเคซุ” หรืออิเคซุอิชิ (Ikezuishi / いけず石) เป็นก้อนหินธรรมดาที่มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้รถชนกำแพงหรือเข้ามาในบ้านเรือนที่อยู่ตามตรอกแคบๆในเมืองเกียวโตนั่นเอง

เหตุที่ทำแบบนี้ก็เป็นเพราะคนเกียวโตจะมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งก็คือชอบแสดงออกแบบอ้อมๆ และเพื่อเป็นการป้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจนนำไปสู่การโต้เถียงกันในภายภาคหน้า การนำหินอิเคซุมาวางไว้ตามมุมบ้านเช่นนี้จึงเป็นการสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า “จากตรงนี้เป็นต้นไปห้ามล้ำเข้ามา”

ที่มารูปภาพ : https://www.homes.co.jp/cont/press/reform/reform_01360/

กล่าวกันว่าต้นกำเนิดของหินอิเคซุเกิดขึ้นในช่วงสมัยเฮฮัน ซึ่งเป็นช่วงที่เกียวโตยังเป็นเมืองหลวงอยู่และยังคงมีการใช้เกวียนวัววิ่งไปตามเมือง ผู้คนจึงนำหินมาวางไว้ที่บริเวณทางเข้าและทางแยก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของตนนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้ คำว่า ‘อิเคซุ’ ในภาษาถิ่นเกียวโตยังมีความหมายว่า “น่ารังเกียจ” ไม่หมดเพียงเท่านั้น คำนี้ยังสื่ออีกความหมายหนึ่งได้ว่า “จากก้อนหินตรงนี้ห้ามเข้ามา”

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันกับหินอิเคซุนั่นก็คือ “อินุยาไร” (Inuyarai / 犬矢来)

จุดประสงค์หลักของอินุยาไรเลยก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้โจรบุกเข้าบ้านและป้องกันไม่ให้สุนัขที่เดินอยู่บนถนนฉี่ใส่กำแพง แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว อินุยาไรยังป้องกันโคลนที่ถูกลากมากับเกวียน รวมถึงป้องกันไม่ให้รถวิ่งเข้ามาเฉียดกับกำแพงบ้านด้วย หากเพื่อนๆเคยไปเดินเล่นย่านกิองก็จะเห็นว่าบ้านเรือนของชาวเกียวโตยังคงติดอินุยาไรตามกำแพงบ้านค่ะ

แล้วนอกจากที่เกียวโต ยังมีเมืองไหนที่มีวัฒนธรรมวางก้อนหินไว้มุมบ้านแบบนี้กันนะ?

ย่าน Tondabayashi Jinaimachi จ. โอซาก้า

ที่มารูปภาพ : https://news.yahoo.co.jp/expert/articles/7bfdac25c87532b3f34af013e876c29bf6c99f83

ในปัจจุบันพบว่าย่าน Tondabayashi Jinaimachi จ. โอซาก้า มีการวางก้อนหินไว้หน้าบ้านเช่นเดียวกับที่เกียวโต แต่ทว่าจุดที่ก้อนหินวางอยู่นั้นกลับไม่ได้วางไว้ตามมุมบ้านอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลับมีการนำก้อนหินมาวางเรียงกันเป็นแถว ทั้งยังมีการใช้อิฐบล็อก หรือการนำไม้มาใช้แทนหินต่างๆนานา

หากย้อนกลับในอดีต ย่าน Tondabayashi Jinaimachi เคยเป็นเมืองปกครองตนเองที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1558 ถนนของเมืองนี้จึงถูกทำให้แคบและมีโค้งอยู่หลายจุดเพื่อป้องกันการบุกรุกจากบุคคลภายนอก ซึ่งผังถนนที่แคบและมีแยกเยอะเช่นนี้ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม สภาพท้องถนนภายในเมืองก็อาจจะได้รับการปรับปรุงหรือบำรุงรักษามาเรื่อยๆแล้ว ในปัจจุบันบ้านเรือนที่อยู่ในย่าน Tondabayashi Jinaimachi จึงมีคูน้ำและบันไดขั้นอยู่ระหว่างบ้านกับถนน ทำให้รถไม่สามารถชนกันได้ง่าย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าก้อนหินเหล่านี้ถูกทิ้งไว้เพื่อให้เป็นร่องรอยของวัฒนธรรมที่หลงเหลือจากในอดีต

“หินอิชิกันโตะ” ของเกาะโอกินาว่า

ก้อนหินหรือป้ายที่อยู่ตามท้องถนนบนเกาะโอกินาว่าจะเรียกว่า หินอิชิกันโตะ (Ishikanto / 石敢當) อิชิกังโด, อิชิกังโตะ, เซคิคังโตะ, เซคคัง ฯลฯ หินเหล่านี้มักจะถูกวางหรือติดไว้บริเวณทางแยกตัวทีเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ซึ่งหินเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่กว่าหินอิเคซุของเกียวโต

ทั้งนี้หินอิชิกันโตะอาจจะมีความหมายในเชิงปฏิบัติด้วย เนื่องจากหินถูกวางไว้บริเวณทางแยกเพื่อเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าถนนด้านหน้าคือแยก ดังนั้นให้ชะลอความเร็วลง อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักของหินอิชิกันโตะไม่ใช่เพื่อการป้องกันอุบัติเหตุ แต่เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ที่มารูปภาพ : https://sotokoto-online.jp/local/14273

ตามความเชื่อของคนโอกินาว่า สิ่งชั่วร้าย ที่ชาวโอกินาว่าต้องการปัดเป่านั้นจะเรียกว่า “มาจิมัน” (MAJIMUN / マジムン) ซึ่งมาจิมันก็มีหลายประเภทอย่าง “อาคังกุวามาจิมัน” (Akanguwa Majimun / アカングワーマジムン) เป็นวิญญาณของทารกที่ตายแล้ว ตามความเชื่อมาจิมันตนนี้น่ากลัวมาก เพราะว่ากันว่าหากมันลอดหว่างขาใคร คนนั้นจะมีอันเป็นไป

นอกจากนี้ ยังกล่าวกันว่าพวกมาจิมันเหล่านี้ทำได้เพียงแค่ตรงไปเท่านั้น พอพวกมันมุ่งหน้าไปทางสี่แยกก็จะทะลุเข้าไปในกำแพงที่อยู่สุดทาง ด้วยเหตุนี้ หินอิชิกันโตะจึงวางไว้เพื่อปัดเป่าพวกมาจิมันนั่นเอง

ที่มารูปภาพ : dekitateyo / Shutterstock.com

อย่างไรก็ตาม นักคติชนวิทยา “ชิโนบุ โอริคุจิ” (Shinobu Orikuchi / 折口信夫) เชื่อว่าบทบาทของ “หิน” ในญี่ปุ่นมีดังนี้

  1. โกะชินไต (Goshintai / ご神体) วัตถุมงคลที่เชื่อว่ามีวิญญาณของเทพเจ้าสถิตอยู่
  2. หินสำหรับทำนายดวง (占いのための石)
  3. หินสำหรับกดพลังวิญญาณ (精霊を抑える石)
  4. หินบูชาอวัยวะเพศ (生殖器崇拝の石)

ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่าหินที่เป็นวัตถุแห่งความศรัทธาอย่าง หินอิชิกันโตะของโอกินาว่าเป็นหินสำหรับกดพลังวิญญาณ เพื่อไม่ให้สิ่งชั่วร้ายออกมาทำร้ายคน และไม่แน่ว่าหินอิเคซุที่วางไว้มุมบ้านมาตั้งแต่สมัยเฮอันก็อาจจะมีความหมายอันศักดิ์สิทธิ์บางอย่างแฝงอยู่ก็เป็นได้ค่ะ

ที่มา

https://news.yahoo.co.jp/expert/articles/7bfdac25c87532b3f34af013e876c29bf6c99f83

https://www.homes.co.jp/cont/press/reform/reform_01360/

https://sotokoto-online.jp/local/14273

อ่านบทความสนุกๆจาก fromJapan 🥰

มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ! 😉

รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!

ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ

Back To Top