fbpx

จริงหรือที่มันแตกต่าง? “การจัดสำรับอาหารญี่ปุ่น” ระหว่างคันโตและคันไซไม่เหมือนกัน!

เม.ย. 01, 2024

จริงหรือที่มันแตกต่าง? “การจัดสำรับอาหารญี่ปุ่น” ระหว่างคันโตและคันไซไม่เหมือนกัน!

อย่างที่หลายๆคนอาจจะทราบกันดีว่ามารยาทในการขึ้นบันไดเลื่อนในภูมิภาคคันโตและภูมิภาคคันไซนั้นมีความแตกต่างกัน คนในแถบคันโต (Kanto) จะยืนชิดซ้ายและเดินชิดขวา ส่วนคนในแถบคันไซ (Kansai) จะยืนชิดขวาและเดินชิดซ้ายเหมือนที่ไทย

นอกจากความแตกต่างในการใช้บันไดเลื่อนแล้ว ทุกคนทราบกันหรือยังว่า มารยาทในการรับประทานอาหารอย่าง ‘การจัดสำรับอาหารญี่ปุ่น’ ของทั้งสองภูมิภาคนี้ยังมีความแตกต่างกันด้วยเช่นกัน

ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเกี่ยวกับมารยาทในการรับประทานอาหารญี่ปุ่น ตั้งแต่วิธีการจัดสำรับอาหารและเครื่องเคียงที่ถูกต้อง รวมถึงความแตกต่างในการจัดสำรับอาหารญี่ปุ่นของภูมิภาคคันโตและภูมิภาคคันไซกันค่ะ!

การจัดวางสำรับอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือแบบไหน?

“อิชิจู-ซันไซ” (Ichiju-Sansai / 一汁三菜) คือพื้นฐานอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่ประกอบไปด้วย อาหารหลัก (ข้าว), ซุป (ซุปมิโซะหรือซุปอื่นๆ ฯลฯ), และกับข้าว 3 อย่าง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น อาหารจานหลัก (กับข้าวหลัก เช่น ปลาย่าง ซาชิมิ ฯลฯ), เครื่องเคียง (อาหารที่ทำโดยการต้ม การเคี่ยว ซึ่งจะเรียกว่า ‘นิโมโนะ’ (Nimono) และไข่ม้วน ฯลฯ), และเครื่องเคียงรอง เช่น ผักดองและยำผัก ฯลฯ

โดยหลักการจัดสำรับแบบอิชิจู-ซันไซนี้ได้รับความนิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเสิร์ฟในปริมาณที่พอเหมาะและยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วน

ต่อไปเราจะพาไปดูวิธีการจัดวางสำรับอาหารแต่ละจานว่าจะเป็นอย่างไร โดยหลักการคือ ‘ต้องง่ายต่อการทาน’

โดยทั่วไปแล้วผู้คนในโลกส่วนใหญ่จะถนัดขวา ซึ่งชาวญี่ปุ่นในสมัยก่อนก็น่าจะมีคนถนัดขวาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงยุคซามูไรที่เห็นได้ชัดเจนจากการที่ซามูไรมักจะสะพายดาบไว้ที่เอวข้างซ้าย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้ใช้มือขวาชักดาบออกมาได้อย่างถนัดนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวไว้ว่า “การหยิบชามอาหารคร่อมชามข้าวซึ่งเป็นอาหารจานหลักที่สำคัญที่สุดนั้นถือว่าเสียมารยาท” ดังนั้น อาหารแต่ละจานจึงต้องวางอยู่ในตำแหน่งที่เอื้อต่อการถือและหยิบทานได้สะดวก โดยจะถือตะเกียบไว้ที่มือขวาและถือชามข้าวไว้ในมือซ้าย ด้วยเหตุนี้ ชามข้าวจึงต้องวางอยู่ด้านหน้าทางซ้ายมือนั่นเอง

ต่อไปเราจะไปดูตำแหน่งของสำรับอาหารแต่ละจานกันค่ะ

  1. ข้าวจะวางอยู่ด้านหน้าทางซ้ายมือ
  2. ซุปมิโซะหรือซุปอื่นๆ จะวางอยู่ทางด้านขวาตรงข้ามกับข้าว
  3. เครื่องเคียงรอง เช่น ผักดอง จะวางอยู่ตรงกลางระหว่างข้าวและซุป
  4. เครื่องเคียง จะวางอยู่ด้านหลังทางด้านซ้ายมือ เช่น ไข่ม้วนหรืออาหารที่ทำโดยการต้ม การเคี่ยว ซึ่งจะเรียกว่า ‘นิโมโนะ’ (Nimono) ฯลฯ
  5. กับข้าวหลัก เช่น ปลาย่าง ปลาซาบะย่าง ซาชิมิ ฯลฯ จะวางอยู่ด้านหลังทางขวามือ

สำหรับการจัดเรียง ‘กับข้าวหลัก’ และ ‘เครื่องเคียง’ ไว้ด้านหลังเช่นนี้ถือว่าถูกต้องตามมารยาทในการรับประทานอาหารญี่ปุ่น อีกทั้งการจัดสำรับอาหารญี่ปุ่นสไตล์นี้ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทและหนังสือเรียนเกี่ยวกับมารยาท ด้วยประการนี้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่และคนในแถบคันโตจึงยึดเกณฑ์การจัดวางสำรับอาหารดังกล่าวมาเป็นบรรทัดฐานนั่นเอง อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าคนในแถบคันไซ (Kansai) ส่วนใหญ่นั้นได้มีการจัดสำรับอาหารญี่ปุ่นแตกต่างออกไป โดยจะวาง ‘ซุป’ ไว้ด้านหลังข้าวทางซ้ายและวาง ‘กับข้าวหลัก’ ไว้ด้านหน้าทางขวามือ ส่วน ‘เครื่องเคียง’ จะวางไว้ด้านหลังทางขวา

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากผลการสำรวจเกี่ยวกับตำแหน่งของซุปตามพื้นที่ในต่างจังหวัดแล้ว พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 70% ที่อยู่ในจังหวัดโอซาก้า จังหวัดเกียวโต และจังหวัดเฮียวโกะนั้นได้ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “วางซุปมิโซะไว้ด้านหลังทางซ้าย”

ส่วนจังหวัดที่ตอบว่า “วางซุปมิโซะไว้ด้านหน้าทางขวา” ตามเกณฑ์พื้นฐานการจัดสำรับอาหารญี่ปุ่นนั้นได้แก่ จังหวัดโตเกียว จังหวัดไซตามะ และจังหวัดคานากาวะ โดยเฉพาะจังหวัดกุมมะมีคนถนัดขวามากถึง 85% (*อ้างอิงจากการสำรวจของเว็บไซต์ j-town.net ปี 2018)

จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่าการจัดสำรับอาหารญี่ปุ่นระหว่างภูมิภาคคันโตและคันไซนั้นมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน

การจัดวาง “ซุปไว้ด้านหลังข้าวทางซ้าย” ที่ได้รับความนิยมในแถบคันไซนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ว่ากันว่า “การวางกับข้าวหลักไว้ด้านหน้า จะทำให้รู้สึกว่าเราได้ปริมาณอาหารเยอะ” ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นการตีความตามกลยุทธ์ค้าขายของเหล่าพ่อค้า ทั้งนี้ดูเหมือนว่านักวิจัยด้านวัฒนธรรมอาหารก็ได้มีการนำทฤษฎีดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดอื่นๆอีกมากมาย เช่น ทฤษฎีของคนคันไซที่ให้เหตุผลว่า “หากเราวางกับข้าวหลักไว้ด้านหน้าและวางซุปไว้ด้านหลังนั้นจะสะดวกต่อการหยิบอาหารกว่าและไม่ต้องกังวลว่าเราจะเผลอเอามือไปโดนถ้วยน้ำซุปหก”

นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่ว่า “เหตุผลที่คนคันโตวางซุปมิโซะไว้ด้านหน้านั้นก็เพราะว่าซุปมิโซะมีตำแหน่งสูงเป็นอันดับสองรองจากข้าว” แต่ทว่าในแง่ของคนคันไซนั้นกลับมีปริมาณการบริโภคมิโซะอยู่อันดับรองสุดท้ายของประเทศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าตำแหน่งของซุปมิโซะในคันไซนั้นอาจจะไม่ได้อยู่อันดับสูง ดังนั้น คนคันไซจึงวางซุปมิโซะไว้ด้านหลังนั่นเอง รวมถึงยังมีทฤษฎีหนึ่งได้กล่าวอีกว่า “ตำแหน่งของมิโซะจะสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค”
หลังจากเราทราบถึงความแตกต่างของการจัดสำรับอาหารญี่ปุ่นในภูมิภาคคันโตและภูมิภาคคันไซกันไปแล้ว เราเชื่อว่าหลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าแล้วร้านอิซากายะและร้านอาหารทั่วญี่ปุ่นนั้นเขาจัดสำรับอาหารกับแบบไหน?

คำตอบคือ เนื่องจากมีหลักปฏิบัติพื้นฐานในการเสิร์ฟอาหาร ดังนั้นวิธีการจัดสำรับจึงไม่ขึ้นอยู่กับภูมิภาค ร้านอาหารในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงจัดวางซุปไว้ทางด้านขวาของข้าวตามมาตรฐานนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม มารยาทในการรับประทานอาหารญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมอาหาร ดังนั้นจึงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแน่นอนว่าการจัดวางสำรับอาหารที่แท้จริงต้องจัดอย่างไร อีกทั้งมารยาทที่ใช้ก็อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับภูมิภาคหรือครอบครัว

ที่มา

https://komepedia.jp/serving/

https://www3.nhk.or.jp/news/special/maruwaka-migake/articles/article_20.html

https://www.shoku-do.jp/column/co_0021/

https://www.nikkei.com/article/DGXMZO35014150V00C18A9AA2P00/

อ่านบทความสนุกๆจาก fromJapan ✨

มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ!

รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!

ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ

Back To Top