fbpx

ข้อมูลการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นของนักเรียนต่างชาติ พร้อมบทสัมภาษณ์นักเรียนไทยในญี่ปุ่น

พ.ย. 16, 2020

ข้อมูลการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นของนักเรียนต่างชาติ พร้อมบทสัมภาษณ์นักเรียนไทยในญี่ปุ่น

การเรียนภาษาที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ใช้ภาษานั้น ดังนั้นหลายๆคนที่กำลังฝึกภาษาญี่ปุ่นก็คงอยากจะไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นกันใช่ไหมล่ะคะ

วันนี้นักเขียนของ fromJapan ซึ่งอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นจะนำประสบการณ์การเรียนภาษาที่นั่นมาเล่าสู่กันฟังค่ะ แถมยังมีบทสัมภาษณ์ของนักเรียนไทยที่อยู่ที่ญี่ปุ่นด้วยนะ

ใครที่กำลังเล็งว่าจะไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่น บทความนี้นับว่ามีประโยน์มากๆเลย เพราะเราได้ผู้มีประสบการณ์ตรงมาเล่าให้ฟังเลยค่ะ! ^^

ฉะนั้นถ้าพร้อมแล้ว เราไปอ่านกันเลยค่ะ!

สารบัญ

1. โรงเรียนภาษาญี่ปุ่นในญี่ปุ่นคือ?

2. การเตรียมตัวเรียนต่อ

3. การใช้ชีวิตในญี่ปุ่น

4. บทสัมภาษณ์นักเรียนไทยในโตเกียว

1. โรงเรียนภาษาญี่ปุ่นในญี่ปุ่นคือ

โรงเรียนภาษาญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น คือโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นที่จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนชาวต่างชาติที่ต้องการเรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับสูง ปัจจุบันมีโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 700 แห่ง โดยทั่วไปจะมีทั้งคอร์สภาษาญี่ปุ่นระยะสั้นที่มีกิจกรรมให้เข้าร่วมระหว่างคอร์ส (1 สัปดาห์ – 3 เดือน) ซึ่งผู้สมัครสามารถกำหนดระยะเวลาที่ต้องการเรียนได้เอง และคอร์สภาษาญี่ปุ่นระยะยาว (1 – 2 ปี) ซึ่งจำเป็นต้องขอวีซ่านักเรียน โดยคอร์สระยะยาวจะแบ่งเป็นหลักสูตรภาษาญี่ปุ่นทั่วไป หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นเพื่อศึกษาต่อ เป็นต้น

สำหรับการเรียนภาษาในโรงเรียนภาษาญี่ปุ่นส่วนใหญ่ อาจารย์ชาวญี่ปุ่นจะสอนด้วยภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น และมีเรียนทุกวันจันทร์-ศุกร์ วันละประมาณ 4 – 5 คาบ ทำให้นักเรียนต่างชาติสามารถจดจำและพัฒนาทักษะภาษาญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนการสอน ระยะเวลาของหลักสูตร ค่าใช้จ่าย รวมถึงข้อมูลอื่นๆจะแตกต่างกันไปตามแต่ละโรงเรียนค่ะ

ที่มา : Sendagaya Japanese Institute Group

กลับไปที่สารบัญ

2. การเตรียมตัวเรียนต่อ

2.1 คอร์สระยะสั้น (Short Term Course)

สำหรับคอร์สระยะสั้น จำเป็นต้องทำการยื่นขอวีซ่าประเภท Temporary Visitor ซึ่งจะอยู่ญี่ปุ่นได้ตามระยะเวลาที่กำหนด (ไม่เกิน 90 วัน) เราจะไม่สามารถต่อวีซ่าได้และไม่สามารถทำงานได้

・ขั้นตอน

หาข้อมูลโรงเรียนที่ต้องการเรียนต่อหรือเข้าร่วมงานแนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นที่จัดขึ้นในไทย

สมัครเรียนผ่านเอเจนซี่หรือสมัครโดยตรงด้วยตนเอง (สมัครล่วงหน้า 2-3 เดือนก่อนเปิดเรียน)

รอการตอบรับจากทางโรงเรียน

ชำระค่าเล่าเรียน

นำใบตอบรับการเข้าเรียนจากโรงเรียนเพื่อนำไปขอวีซ่าท่องเที่ยวด้วยตนเอง

เดินทางไปเรียน

2.2 คอร์สระยะยาว(Long Term Course)

สำหรับคอร์สระยะยาวจะมีหลักสูตรให้เลือกตามเป้าหมายของผู้เรียน ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละโรงเรียน ผู้สมัครควรหาข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับตนเอง และการยื่นเอกสารสำหรับขอวีซ่านักเรียนสำหรับผู้ที่ไม่สามารถขอวีซ่าพำนักระยะยาวเองได้นั้น จำเป็นต้องใช้เวลาเตรียมการที่นานกว่าการเรียนต่อในระยะสั้น

・ขั้นตอน

หาข้อมูลโรงเรียนที่ต้องการเรียนต่อหรือเข้าร่วมงานแนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นที่จัดขึ้นในไทย

สมัครเรียนผ่านเอเจนซี่หรือสมัครโดยตรงด้วยตนเอง (สมัครล่วงหน้าประมาณ 6 เดือนก่อนเปิดเรียน) โดยเตรียมยื่นเอกสารที่จำเป็นกรณีที่ต้องขอวีซ่านักเรียน*

รอเจ้าหน้าที่เอเจนซี่ในไทยหรือโรงเรียนภาษาที่สมัครทำการตรวจเอกสาร อาจมีกรณีที่ต้องทำการแก้ไขเอกสารให้ถูกต้องหรือจำเป็นต้องยื่นเอกสารเพิ่ม

เมื่อเอกสารถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ผู้สมัครหรือเอเจนซี่จะต้องส่งเอกสารตัวจริงไปที่ญี่ปุ่น จากนั้นทางโรงเรียนภาษาจะยื่นเอกสารไปที่ตม.ญี่ปุ่นเพื่อขอใบ COE (Certificate of Eligibility หรือที่เรียกว่าใบอนุญาตให้พำนักในญี่ปุ่น) ใช้เวลารอผลประมาณ 1-2 เดือน

เมื่อตม.ประกาศผลโดยส่งใบ COE มาที่โรงเรียนแล้ว ให้ผู้สมัครทำการชำระค่าเล่าเรียน

เมื่อทำการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว โรงเรียนภาษาจะส่งใบ COE ตัวจริงให้นักเรียนเพื่อนำไปขอวีซ่านักเรียนที่สถานกงสุลหรือสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

หลังจากได้วีซ่านักเรียนแล้ว เตรียมเดินทางไปเรียน

เมื่อเดินทางถึงสนามบินแล้วให้ไปขอรับบัตรไซริวการ์ดหรือบัตรประจำตัวคนต่างชาติ(在留カード/Residence Card) ได้ที่ตม.ในสนามบินญี่ปุ่น

*หากไม่มีวีซ่าพำนักระยะยาว เช่น วีซ่าคู่สมรส วีซ่าติดตาม เป็นต้น จำเป็นจะต้องทำการขอวีซ่านักเรียน ซึ่งเอกสารที่ต้องใช้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เอเจนซี่หรือโรงเรียนที่ต้องการสมัคร

กลับไปที่สารบัญ

3. การใช้ชีวิตในญี่ปุ่น

3.1 หอพัก

  • กรณีพักหอพักที่โรงเรียนจัดหาให้

สำหรับหอพักที่ทางโรงเรียนภาษาจัดหาให้จะเป็นหอพักที่โรงเรียนเป็นผู้ดูแลเองหรือมีบริษัทร่วมมือกับโรงเรียนคอยดูแลให้ หอพักมักตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน บางแห่งสามารถเดินทางไปโรงเรียนได้โดยไม่ต้องโดยสารรถไฟ ข้อดีคือ ค่าใช้จ่ายแรกเข้าจะถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับการหาห้องเช่าด้วยตนเองค่ะ

ห้องเดี่ยว / ที่มา : Sendagaya Japanese Institute Group

ห้องแบบแชร์ / ที่มา : Sendagaya Japanese Institute Group

  • กรณีพักอพาร์ตเมนต์หรือแมนชั่นที่หาด้วยตนเอง

ที่ญี่ปุ่นจะมีการแบ่งที่พักเป็นอพาร์ตเมนต์ (アパート) และแมนชั่น(マンション)ซึ่งมีความแตกต่างกันคือ อพาร์ตเมนต์มักเป็นที่พักอาศัยที่มี 1 – 3 ชั้น กำแพงจะบางกว่าแมนชั่น ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องเสียงมากเป็นพิเศษ แต่ส่วนใหญ่ขนาดห้องจะกว้างและราคาถูกกว่าแมนชั่น

ส่วนที่พักแบบแมนชั่นมักเป็นตึกสูงและมีความปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากแมนชั่นหลายแห่งจะมีประตูล็อกที่ทางเข้า(オートロック)และสร้างด้วยคอนกรีต แต่ขนาดห้องอาจจะแคบกว่าและแพงกว่าที่พักแบบอพาร์ตเมนต์ค่ะ เช่น ห้องพักแบบ 1 Room ย่าน Takadanobaba (เขตชินจูกุ) ห้องขนาด 10 – 20 ตร.ม. จะมีราคาเฉลี่ย 70,000 เยนต่อเดือน (ไม่รวมค่าแรกเข้า ค่าทำสัญญา และค่าใช่จ่ายอื่นๆ)

ที่พักแบบอพาร์ตเมนต์

ที่พักแบบแมนชั่น

3.2 ค่าอาหาร

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่ได้มีร้านอาหารราคาถูกจำนวนมากเมื่อเทียบกับที่ไทย การซื้ออาหารนอกบ้านหรือทานอาหารนอกบ้านแต่ละครั้งนั้นมีราคาประมาณ 300 – 900 เยน เพราะฉะนั้นนักเรียนที่มาเรียนที่ญี่ปุ่นหลายคนอาจประหยัดเงินได้ด้วยการซื้ออาหารมาทำเองค่ะ ซึ่งถ้าใครประหยัดด้วยการทำอาหารกินเองเป็นส่วนใหญ่ เดือนหนึ่งอาจใช้เงินค่าอาหารเพียง 6,000 – 7,000 บาทได้ค่ะ

3.3 การเดินทาง

ที่มา : Sendagaya Japanese Institute Group

การเดินทางในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับประเทศไทยนั้นมีความสะดวกและรวดเร็วกว่า มีรถไฟหลายสายเข้าถึงจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว แต่อย่างไรก็ตามการเดินทางโดยรถไฟในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น เวลา 7.00 – 9.00 น. ในช่วงเช้า จำนวนคนอาจจะแน่นเป็นพิเศษจนทำให้หลายคนรู้สึกอัดอัด สำหรับน้องผู้หญิงสามารถเลือกขึ้นรถไฟตู้สำหรับผู้หญิงที่มีสติกเกอร์สีชมพูเขียนว่า Women only (女性専用車) ได้ค่ะ

ส่วนวิธีการเดินทางอื่นๆ เช่น การใช้จักรยานนั้น จำเป็นต้องเคารพกฏในการใช้ เช่น ห้ามนั่งซ้อนท้ายจักรยาน จอดรถจักรยานได้ในที่ที่กำหนดเท่านั้น เป็นต้น

3.4 ประกันสุขภาพ

ผู้ที่อาศัยในญี่ปุ่นจะต้องทำประกันสุขภาพแห่งชาติของญี่ปุ่น โดยจะต้องจ่ายค่าประกันทุกเดือน ซึ่งประกันนี้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยผู้ป่วยสามารถชำระค่ารักษาได้ในราคาเพียง 30% ของค่ารักษาค่ะ

ส่วนวิธีการสมัครนั้นสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเขตใกล้บ้าน เมื่อดำเนินการสมัครแล้วจะได้รับบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต้องพกติดตัวทุกครั้งเมื่อเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลีนิก โดยค่าประกันสุขภาพจะแตกต่างกันตามแต่ละเขต และรายได้ปีก่อนหน้านั้นของเรา

สำหรับนักเรียนต่างชาติที่เพิ่งเข้ามาเรียนในปีแรก ค่าประกันจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 1,200 เยน และจะมีการปรับขึ้นราคาในปีถัดไปสำหรับนักเรียนที่ทำงานพิเศษ แต่สำหรับนักเรียนคนไหนที่ไม่ได้ทำงานพิเศษก็สามารถติดต่อสำนักงานเขตเพื่อแจ้งให้ปรับราคาลงได้ เนื่องจากไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษในปีก่อนหน้านั้นค่ะ

3.5 การแยกขยะ

ที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีกฏการแยกขยะตามแต่ละเขตที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ขวดพลาสติกจะต้องทิ้งแยกฝาขวดและแกะแถบพลาสติกออกก่อนทิ้ง และเมื่อจะทิ้งขวด กระป๋อง หรือขยะเปียก เราจะต้องทิ้งสิ่งที่อยู่ภายในภาชนะออกก่อน

สำหรับขยะขนาดใหญ่ เช่น เตียง ที่นอน โต๊ะ เครื่องดนตรี ฯลฯ ก่อนทิ้งจะต้องทำการติดต่อสำนักงานเขตที่เราอาศัยอยู่ก่อนล่วงหน้าเพื่อทำการลงทะเบียนการทิ้งขยะและระบุวันทิ้ง จากนั้นชำระเงินค่าทิ้งขยะขนาดใหญ่โดยสามารถซื้อ ‘ตั๋วทิ้งขยะขนาดใหญ่’(粗大ごみ処理券) ได้ที่ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งราคาจะอยู่ที่ประมาณ 200 – 600 เยนตามขนาดและประเภท แล้วนำมาแปะที่ขยะชิ้นใหญ่ที่เราจะทิ้ง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ก่อนจะทิ้งขยะที่ญี่ปุ่นเราจึงต้องสังเกตกฎการแยกขยะของเขตหรือสถานที่นั้นๆให้ดีก่อนนะคะ

3.6 การใช้โทรศัพท์

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ทำให้ทุกคนต้องระมัดระวังเรื่องการใช้เสียงโดยไม่รบกวนผู้อื่น เช่น ต้องปิดเสียงโทรศัพท์เมื่ออยู่บนรถไฟ หรือหลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์บนรถไฟหรือร้านอาหาร

3.7 การเปิดบัญชีธนาคาร

การเปิดบัญชีธนาคารในญี่ปุ่นนั้นจำเป็นและสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานพิเศษ โอนเงินระหว่างประเทศ ซื้อโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ

ในการเปิดบัญชีธนาคารที่ญี่ปุ่น เราจำเป็นต้องมีวีซ่าพำนักมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป และบางธนาคารอาจมีเงื่อนไขว่าจะต้องพำนักอยู่ในญี่ปุ่นมาแล้วเกิน 6 เดือนด้วยค่ะ สำหรับธนาคารที่มีสาขาเยอะและชาวต่างชาตินิยมเปิดใช้จะเป็นธนาคาร JP Post ที่สามารถเปิดโดยไม่ต้องมีตราประทับได้ค่ะ

3.8 การทำงานพิเศษ

สำหรับชาวต่างชาติที่ถือวีซ่านักเรียน สามารถทำงานพิเศษได้ โดยมีกฏว่าจะต้องไม่เกิน 28 ชม.ต่อสัปดาห์ และมีอาชีพที่ห้ามทำคือ งานกลางคืน เช่น พนักงานนั่งดริงค์ เป็นต้น

สำหรับงานพิเศษที่นักเรียนไทยส่วนใหญ่นิยมทำคือ พนักงานเสิร์ฟร้านอาหารไทยหรือพนักงานร้านสะดวกซื้อ หรือสำหรับคนที่ภาษายังไม่แข็งแรงมากก็อาจจะเริ่มจากงานที่ยังไม่ต้องใช้ภาษาสื่อสารมาก เช่น พนักงานคัดแยกพัสดุ

ส่วนรายได้ขั้นต่ำ ถ้าเป็นเขตโตเกียวล่าสุดในเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2020 มีการปรับเป็น 1,013 เยนต่อชั่วโมงแล้ว หากใครต้องการแบ่งเบาภาระผู้ปกครองในเรื่องค่าใช้จ่าย หรือต้องการฝึกภาษานอกห้องเรียน การทำงานพิเศษนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่ดี นอกจากนี้เมื่อสมัครงาน เรายังสามารถนำประสบการณ์เหล่านี้ไปเขียนในประวัติการทำงานพิเศษได้ด้วยค่ะ

3.9 การเข้าเรียน

สำหรับนักเรียนต่างชาติที่ถือวีซ่านักเรียน จำเป็นต้องรักษาอัตราการเข้าเรียนให้ได้ในระดับเปอร์เซ็นต์ที่สูง ซึ่งถ้าหากขาดเรียนบ่อยๆจนอัตราการเข้าเรียนต่ำ จะทำให้มีปัญหาในการต่อวีซ่าในอนาคตได้ค่ะ

3.10 ส่วนลดต่างๆสำหรับนักเรียน

สำหรับนักเรียนต่างชาติสามารถแสดงบัตรนักเรียนเพื่อขอรับส่วนลดต่างๆได้ เช่น ร้านชานมไข่มุก คาราโอเกะ ค่าตั๋วหนัง ค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ ร้านทำผม ซาลอนกำจัดขน แพ็คเกจทัวร์ หรือบริการอื่นๆ หากเห็นคำว่า ‘学割(gakuwari)’ ที่ร้านไหนก็สามารถสอบถามพนักงานได้เลยค่ะ

กลับไปที่สารบัญ

4. บทสัมภาษณ์นักเรียนไทยในโตเกียว

คุณวุฒิ นักเรียนจากสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นเซนดากายะ (https://www.jp-sjs.ac.jp/)

ปัจจุบันได้เป็นนักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกที่ Kobe University (สัมภาษณ์เมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2020)

Q : มาญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อไหร่ ปัจจุบันนี้เรียนอยู่ที่ไหน

วันแรกที่เข้ามาประเทศญี่ปุ่นน่าจะเป็นวันที่ 4 เมษายน 2562 ครับ โดยปัจจุบัน (กันยายน ค.ศ.2020) เรียนอยู่ที่โรงเรียนเซนดากายะ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น

Q : ก่อนที่จะเริ่มสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่น เคยทำอะไรมาก่อน

เคยเป็นครูในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตพัฒนาประมาณ 7 ปี และเคยประกอบธุรกิจร้านกาแฟประมาณ 5 ปี ครับ

Q : เริ่มสนใจและเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นได้อย่างไร

ถ้าจะบอกว่าเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นเพราะการ์ตูนเรื่องเซเลอร์มูนหรือดราก้อนบอลคงจะทราบอายุพอดี จริงๆคือเมื่อก่อนผมได้มีโอกาสมาเที่ยวที่ฮอกไกโดถึงสองครั้ง และทั้งสองครั้งนั้นผมได้รับมิตรภาพที่ดีจากคนญี่ปุ่น

ครั้งนั้นแม้จะไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นเลย แต่จากอวัจนภาษาที่เพื่อนชาวญี่ปุ่นแสดงออก ทำให้ผมประทับใจจนยากจะบรรยายครับ นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความสนใจให้เกิดการเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นครับ

หลังจากนั้นผมก็ลองหาข้อมูลเรื่องการศึกษาต่อ จากข้อมูลหลากหลายทางทำให้ผมตัดสินใจเลือกศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น Jeducation เนื่องจากมีระบบขั้นตอนในการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนที่ครอบคลุมรอบด้าน รวมถึงมีความเป็นมืออาชีพจากประสบการณ์หลายปี

Q : พอมาอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ด้านการเรียนและการใช้ชีวิต

ในด้านการใช้ชีวิต ใช้เวลาปรับตัวประมาณ 3 เดือนครับ อย่างที่ทราบกันว่าสังคมญี่ปุ่นค่อนข้างเน้นความเป็นระเบียบ มีพฤติกรรมปฏิบัติตามกันเพื่อให้มีความกลมกลืนกัน โดยแรกผมก็พยายามสังเกตพฤติกรรมในที่สาธารณะต่างๆของชาวญี่ปุ่น เช่น บนรถไฟ ในห้างสรรพสินค้า หลังจาก 3 เดือนก็ปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่นี่ได้ดีพอสมควรครับ

ในส่วนของการเรียน ช่วงแรกก็ต้องปรับตัวพอสมควรกับการเรียนการสอนที่เป็นภาษาญี่ปุ่น 100% ก็ใช้เวลาราว 3 เดือนเหมือนกันครับกว่าทุกอย่างจะเริ่มลงตัว นอกจากนี้พี่หมิง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่น่ารักและเป็นคนไทยเพียงคนเดียว ณ โรงเรียนเซนดากายะแห่งนี้ก็จะคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่น้องๆชาวไทยเป็นอย่างดีครับ ซึ่งเวลาพี่มีคำถามที่ไม่เข้าใจ แม้กระทั่งเนื้อหาในบทเรียน พี่หมิงก็จะคอยช่วยชี้แนะเสมอครับ

Q : เคยทำงานพิเศษอะไรบ้างที่นี่

ในส่วนของงานพิเศษ ผมมีโอกาสได้ทำ 4 งาน ได้แก่ งานร้านอาหารไทย 2 แห่ง งานร้านกาแฟ 1 แห่ง และงานทำข้าวกล่อง 1 แห่ง โดยแต่ละงานก็จะมีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันไป

สำหรับน้องๆที่กำลังมองหางานพิเศษ อยากให้ลองพิจารณาถึงความต้องการของเรา รวมถึงศักยภาพที่เรามี เช่น ถ้าน้องมีความต้องการอยากฝึกภาษาญี่ปุ่น การเลือกทำงานในร้านกาแฟที่แวดล้อมไปด้วยคนญี่ปุ่นอาจจะได้ประโยชน์มากกว่าครับ

Q : พบอุปสรรคในการใช้ชีวิตบ้างไหม โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในปัจจุบัน และอยากให้เล่าถึงประสบการณ์สนุกๆที่นี่ด้วย

ในช่วงที่เมืองโตเกียวประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อขอความร่วมมือต่างๆอันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ช่วงนั้นผมถูกขอให้ออกจากงานพิเศษ แน่นอนว่าเราขาดรายได้ในส่วนดังกล่าว ซึ่งปกติรายได้ส่วนนี้จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ในทางกลับกัน กลับกลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากไม่สามารถไปไหนได้

ในส่วนของประสบการณ์นั้นก็สนุก มีหลายเรื่องเลย โดยส่วนตัวผมจะชอบพูดคุยกับคนต่างชาติอยู่แล้ว พอมาเรียนที่นี่ก็เลยมีโอกาสได้พบเพื่อนใหม่ๆมากมาย ได้มีโอกาสไปเที่ยวภูเขาไฟฟูจิกับเพื่อนชาวมาเลเซีย หรือกับน้องๆชาวไทยก็ได้มีโอกาสไปเล่นสกีกันที่ฮาคุบะ โดยเช่ารถขับกันไป นอกจากนี้ผมจะชอบไปเข้ากลุ่มกับเพื่อนๆคริสเตียนที่โบสถ์ทุกวันอาทิตย์ หรือจะเป็นกลุ่ม meeting ผ่าน application meetup แต่ทั้งนี้หลายๆกลุ่มไม่เหมาะกับน้องๆที่อายุต่ำกว่า 20 ปีนะครับ เนื่องจากสถานที่ที่นัดหมายมักจะเป็นบาร์ครับ

Q : แล้วหลังจากเรียนจบที่โรงเรียนภาษามีแผนอย่างไรบ้าง

เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโกเบในฐานะนักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกครับ ทั้งนี้ยังมีอะไรอีกมากมายที่ต้องพยายามต่อไปครับ ในฐานะที่ไม่ใช่เด็กเกรด A (ผมคือเด็กหลังห้อง หรือพวก C grade student ครับ) ผมค่อนข้างภูมิใจที่สามารถมาได้ถึงจุดนี้ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าน้องๆทุกคนที่มีความฝัน ถ้าตั้งใจจริงก็ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้แน่นอนครับ

Q : ตอนนี้ความฝันที่จะได้เป็นนักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกได้เป็นจริงแล้ว หลังจากนี้ในอนาคตมีความฝันอย่างไรต่อบ้าง

หลังจากนี้ผมก็ต้องพยายามแสดงศักยภาพให้ professor ที่ดูแลเห็น เพื่อเปลี่ยนสถานะจาก Ph.D. research student เป็น Ph.D. student ครับ ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่วางแผนไว้ หลังจากจบการศึกษาผมตั้งใจจะเป็นอาจารย์สอนด้านการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยที่ประเทศไทยครับ

Q : อยากแนะนำหรือฝากอะไรถึงน้องๆหรือผู้ที่สนใจเรียนต่อที่ญี่ปุ่นบ้าง

จากมุมมองของพี่ อยากให้น้องๆมองเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้จริงผ่านการคิดพิจารณาอันรอบคอบถี่ถ้วนที่ได้จากการเรียนภาษาญี่ปุ่น เช่น เรียนภาษาเพื่อหางานทำในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อให้เกิดแรงจูงใจสูงสุดในระหว่างเรียนครับ

นอกจากนี้พี่อยากให้น้องๆลองศึกษาวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นในท้องที่ที่ต้องการไปใช้ชีวิตครับ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราสามารถเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสมกับคนท้องถิ่นได้ดีครับ พี่วุฒิเป็นกำลังใจให้นะครับ

กลับไปที่สารบัญ

 

สำหรับข้อมูลที่ fromJapan นำเสนอทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลคร่าวๆสำหรับคนที่สนใจอยากเรียนต่อในโรงเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นนะคะ และหากต้องการพัฒนาทักษะภาษาญี่ปุ่นทุกด้าน ทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียนในระยะเวลาอันสั้น อาจมาเรียนคอร์สระยะสั้นที่ญี่ปุ่นในช่วงปิดเทอมก่อนตัดสินใจมาเรียนต่อต่างประเทศระยะยาวหลังเรียนจบมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยที่ไทยได้

ส่วนคนที่ต้องการเรียนต่อในระดับสูง เช่น ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือวิทยาลัยเฉพาะทางในญี่ปุ่น แนะนำให้เรียนภาษาญี่ปุ่นที่ไทยให้ได้มากที่สุดก่อน เพราะที่ญี่ปุ่นมีกฎว่าชาวต่างชาติสามารถเรียนในโรงเรียนภาษาญี่ปุ่นได้สูงสุด 2 ปีเต็มเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอในการพัฒนาไปถึงขั้นสูงได้ตามเป้าหมายสำหรับบางคน เพราะฉะนั้นใครที่ต้องการเรียนต่อระดับสูงในญี่ปุ่นหลังจากจบโรงเรียนภาษา แนะนำให้ขยันมากๆและเรียนเก็บทักษะภาษาญี่ปุ่นที่ไทยไว้ให้ได้มากที่สุดก่อนเดินทางไปเรียนที่ญี่ปุ่นค่ะ

หากสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องเรียนต่อ สามารถติดต่อเอเจนซี่ในไทยหรือติดต่อหาโรงเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นด้วยตนเองได้นะคะ ทางทีมงานทุกคนขอเอาใจช่วยทุกคนค่ะ

อ่านบทความอื่นๆจาก fromJapan

 

กลับไปด้านบน