เกียวโตและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
มิ.ย. 05, 2020
บทความที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 จากแคมเปญ After covid-19
โดย ศิวกร ศรีอรรถโยธิน
เกียวโตและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
เกียวโตเป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอีกเมืองหนึ่งของญี่ปุ่น และโดยส่วนมากถ้าหากเราพูดถึงเกียวโตเราคงจะนึกถึงสถาปัตยกรรมแบบเชิงวัฒนธรรมหรือเป็นเมืองที่มีกลิ่นอายของความโบราณแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งเมืองเกียวโตนั้นมีงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจและเป็นสถานที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่นในยุคมุโรมาชิอยู่หลายที่ เช่น คินคะคุจิหรือรู้จักในชื่อวัดทอง ฟูชิมิอินาริ วัดน้ำใสหรือคิโยมิสึเดระ ปราสาทนิโจ
แต่ว่าเกียวโตยังมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่น่าสนใจอยู่หลายที่ ดังนั้นแล้วผมจึงอยากจะนำเสนองานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อื่นๆที่น่าสนใจในเกียวโต ซึ่งทริปนี้เป็นทริปยาวซึ่งเกิดมาระหว่างการไปฝึกงานที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นของผมครับ ดังนั้นการเดินทางไปในแต่ละที่จะเกิดขึ้นในแต่ละอาทิตย์และไปตามคำแนะนำสถานที่จากรุ่นพี่ที่ฝึกงาน ดังนั้นจึงอยากนำเสนอภาพรวมของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของเมืองเกียวโต และถ้ามีโอกาสอยากให้แวะไปในแต่ละที่ครับ
Garden of fine art Kyoto
สถานที่แรกที่อยากมาแชร์ประสบการณ์คือ Garden of fine art Kyoto
สำหรับ Garden of fine art Kyoto นั้นเป็นสถานที่ซึ่งสถาปนิกหรือนักเรียนสถาปัตยกรรมที่เดินทางมาเที่ยวเกียวโตส่วนมากต้องแวะมาชม เนื่องจากผลงานชิ้นนี้เป็นของสถาปนิกระดับโลกอย่างอาจารย์ Tadao Ando ผู้ที่รับรางวัล Pritzker prize ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลของสถาปนิก
นอกจากจะเป็นงานออกแบบของอาจารย์ Tadao Ando สิ่งที่น่าสนใจในงานนี้คือการออกแบบพื้นที่ว่างได้อย่างน่าสนใจ สวนแห่งนี้เป็นอาคาร มีลักษณะเป็นแกลเลอรีจำลองภาพวาดระดับโลก เช่น the last supper โดยการจัดจำลองภาพแบบภายนอกอาคาร มีการแสดงงานผ่านการออกแบบเส้นทางการเดินที่น่าสนใจและแสงเงาที่มาจากตัวงานสถาปัตยกรรม
โดยความพิเศษของสวนแห่งนี้นอกจากจะเป็นเรื่องแสงเงาแล้ว ยังมีเรื่องการตัดเสียงจากภายนอก ถึงจะไม่ใหญ่มากแต่สามารถตัดเสียงจากการสัญจรบนท้องถนนด้วยการมีกำแพงน้ำขนาดใหญ่ที่ตกลงมา แถมยังได้ความเย็นจากละอองน้ำของน้ำตกด้วย สามารถเดินทางมาด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสถานี Kitayama สาย Karasuma
ที่ตั้งของ Garden of fine art Kyoto
Shimogamo Hangicho, Sakyo Ward, Kyoto, 606-0823, Japan
Kyoto Concert Hall
สถานที่ถัดมาซึ่งอยู่ใกล้ๆกับ Garden of art Kyoto โดยสามารถเดินไปได้ภายในประมาณ 5 นาทีคือ Kyoto concert hall ซึ่งอาคารนี้เป็นอีกหนึ่งงานของอาจารย์ Arata Isozaki ผู้ที่ได้รับรางวัล Priztker Prize ในปี 2019
อาคารนี้เป็นสถานที่จัดแสดงดนตรีหลักประจำเมืองเกียวโต ประกอบด้วยโรงมหรสพ 2 อาคาร โดย 1 ในความโดดเด่นคือการใช้เซรามิกในการทำผิวอาคารส่วนวงกลมและการเลื้อยของเส้นสายที่เชื่อมโยงระหว่างอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมกับอาคารรูปทรงวงกลมได้อย่างลงตัว
โดยภายในมีโถงที่มีเสา 12 ต้น ซึ่งเป็นตัวแทนของสัญลักษณ์จักรราศีทั้ง 12 ราศีอันมีความเกี่ยวข้องทางด้านดนตรี มีทางเดินเป็นวงกลมก่อนขึ้นไปถึงส่วนของโรงมหรสพหลักของอาคาร
ที่ตั้งของ Kyoto Concert hall
1-26 Shimogamo Hangicho, Sakyo Ward, Kyoto, 606-0823, Japan
Kyoto Station
สถานที่ลำดับที่ 3 ที่จะนำเสนอก็คือ สถานีรถไฟหลักของเมืองเกียวโต ที่นี่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมของเมืองเกียวโตเลยก็ว่าได้ โดยสถานีรถไฟแห่งนี้โดดเด่นด้วยการพาดช่วงกว้าง (wide span) ด้วยโครงสร้างรูปแบบเฟรมเหล็ก สถาปนิกผู้ออกแบบสถานีเกียวโตคือ Hiroshi Hara นอกจากการออกแบบสถานีเกียวโตแล้ว อาจารย์ฮิโรชิยังได้ออกแบบซัปโปโรโดม (สนามที่เป็นรังเหย้าของสโมสรฟุตบอลคอนซาโดเร่ ซัปโปโรที่ชนาธิปเล่นให้อยู่) และ Umeda Sky Building อีกด้วย
โดยการออกแบบของอาจารย์ ฮิโรชิจะเด่นไปในด้านการพาดช่วงกว้างและการเลือกใช้เหล็ก กระจก และคอนกรีตที่เป็นที่นิยมในยุค 90 สถานีเกียวโตไม่เพียงมีความโดดเด่นที่การพาดช่วงกว้าง แต่ยังมีบันไดที่ต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นแรกจนถึงดาดฟ้าด้วยจำนวนขั้นที่ 171 ขั้น ซึ่งบนสุดจะเป็นสวน นอกจากนี้ที่สถานีเกียวโตยังมีโรงแรมและเป็นแหล่งชอปปิ้งหลักอีกแห่งของเกียวโต รวมถึงเป็นแหล่งของฝากที่หลากหลายอีกด้วย
เราสามารถขึ้นมาด้านบนส่วนหลังคาของสถานีเกียวโตเพื่อชมทัศนียภาพเมืองเกียวโตจากมุมสูงได้ และจากตรงนี้ยังมองเห็นเกียวโตทาวเวอร์ได้อีกด้วย
ภาพทัศนียภาพของหอคอยเกียวโตที่มองจากส่วนบนของสถานีรถไฟเกียวโต
ที่ตั้งของ Kyoto Station
Higashishiokoji Kamadonocho, Shimogyo Ward, Kyoto, Japan
Keihan Uji Station
ถ้านึกถึงเมืองอุจินั้น ส่วนมากเราก็คงจะนึกถึงเรื่องชาเขียว แต่ถ้าสังเกตดีๆสถานีรถไฟที่อุจิก็สวยไม่น้อย หลักจากที่เราเห็นสถานีหลักของเมืองที่โดดเด่นด้วยงานพาดช่วงกว้างไปแล้ว อาคารนี้จะกลับกัน เพราะโดดเด่นด้วยงานปูนเปลือยทรงกลมและครึ่งวงกลม อาคารสถานีแห่งนี้สร้างโดยอาจารย์ Hiroyuki Wakabayashi สถาปนิกชาวญี่ปุ่น การเลือกใช้วัสดุจะเป็นปูนเปลือย ซึ่งเป็นวัสดุที่เป็นที่นิยมในยุค 90
ตัวสถานีเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ส่วนชานชาลายังคงเป็นหลักคาทรงปีกผีเสื้อ
สถานี Keihan Uji Station นี้ถ้าเริ่มเดินทางจากสถานีรถไฟเกียวโต สามารถขึ้นรถไฟ Keihan สาย Uji มาได้เลย
ที่ตั้งของ Keihan Uji Station
Otsukata Uji, Kyoto 611-0021, Japan
Ryukoku Museum
Ryukoku Museum เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เนื้อหาภายในของพิพิธภัณฑ์นี้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยจะแบ่งการจัดนิทรรศการถาวรเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือนิทรรศการเกี่ยวกับพุทธศาสนาในเอเชีย ร่วมถึงมีพระพุทธรูปและเครื่องแต่งกายของพระไทยอยู่ด้วย ส่วนนิทรรศการถาวรส่วนที่ 2 คือพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น โดยในพิพิธภัณฑ์ของญี่ปุ่นส่วนมากจะมีเกมให้ร่วมสนุก แต่ว่าน่าเสียดายที่ทั้งหมดเป็นภาษาญี่ปุ่น ถ้าใครสนใจเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาและต้องการสัมผัสกับพื้นที่ว่างแบบ พุทธศาสนากับการถอดรหัสแบบญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เป็นสถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งครับ
เปลือกอาคารทำจากไม้ที่วางเป็นแนวคลื่น ทำให้เกิดเป็นการเคลื่อนไหวบนเปลือกอาคารด้วยการวางแนวไม้ให้มีองศาไม่เท่ากัน และทำให้เกิดสีของไม้ที่มีความเข้มความอ่อนต่างกันไป
Court (พื้นที่เปิดในอาคาร) ภายในพิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เหมือนเป็นส่วนต้อนรับ ก่อนที่จะปรับอารมณ์ให้สงบด้วยการจัดการพื้นที่แบบเซนหรือรูปแบบสวนของวัดญี่ปุ่น จากนั้นจึงเข้าสู่การชมพิพิธภัณฑ์
ถ้าหากได้มา Ryukoku Museum นี้ก็อยากให้แวะไปวัดฝั่งตรงข้ามด้วย โดยวัดฝั่งตรงข้ามมีชื่อว่า Hongwanji เป็นวัดที่มีความสวยงามตามระเบียบของงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น เช่น การออกแบบห้องด้วยเสื่อทาทามิ ลาดหินส่วนหน้าที่ทำให้รู้สึกสงบก่อนเข้าวัด ซึ่งเป็นที่มาของการมี Court ปรับอารมณ์ในพิพิธภัณฑ์
Ryukoku Museum สามารถเดินจากสถานีรถไฟเกียวโตได้โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที หรือนั่งรถเมล์สาย 市営 208,28,75 ไปได้
ที่ตั้งของ Ryukoku Museum
Japan, 〒600-8399 Kyoto, Shimogyo Ward, 正面下ル(西本願寺前)
Shiseikan (Kyoto University of Art and Design)
สถานที่สุดท้ายที่อยากให้รู้จักก็คือ Shiseikan ออกแบบโดยอีกหนึ่งสถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่น คืออาจารย์คุมะ หรือชื่อเต็มคือ Kengo Kuma ผู้ออกแบบสนามกีฬาหลักของโตเกียวโอลิมปิก 2020
สำหรับอาคารนี้ทำหน้าที่เป็นโรงอาหารและอาคารเรียนของ Kyoto University Art and design ตัวของอาคารนั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดเอียง อาคารหลังนี้เหมือนเป็นศูนย์กลางของวิทยาเขตนี้ ทำให้การออกแบบอาคารจะเน้นไปที่การใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสะพานหรือศูนย์กลางในการเดินไปอาคารต่างๆ
แนวคิดของเปลือกอาคารนี้เป็นการใช้อาคารที่เป็นบริบทเดิมของโครงการ โดยมีอาคารที่เด่นด้วยเสาหินแกรนิตขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า และเปลือกอาคารนี้ยังช่วยทำให้อาคารกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ด้วย
ส่วนหลังคาของอาคาร Shiseikan นั้นทำเป็นสวนที่สามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพของเมืองเกียวโตได้
ที่ตั้งของ Shiseikan
Kyoto University of Art and Design, 2-116 Kitashirakawa Uryuzancho, Sakyo Ward, Kyoto, 606-8271, Japan
แถมครับ ส่วนด้านหน้าของอาคารหลักของ Kyoto University art and design เป็นอาคารที่มีชื่อว่า Ningenkan อาคารที่อาจารย์คุมะนำไปเป็นไอเดียในการออกแบบเปลือกอาคาร
สุดท้ายนี้ก็อยากให้ทุกคนสนุกกับการท่องเที่ยวชมงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของเกียวโตนะครับ แล้วคุณจะมองเห็นอีกมุมที่ไม่เคยได้สังเกตมาก่อน แต่ว่าผมไม่ได้หมายถึงเพียงเฉพาะเกียวโตนะครับ แต่หมายถึงทุกสถานที่ที่เราได้ไปสัมผัส อาคารทุกแห่งล้วนมีการสื่อสารออกมา ผมเองก็สื่อสารอีกมุมมองหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเมืองเกียวโตเช่นกัน ขอบคุณครับ
ส่วนล่างนี้เป็นตำแหน่งของงานแต่ละที่ครับ ถ้าจะแวะไปก็จะได้วางแผนการเดินทางกันถูกครับ
ผู้เขียน : ศิวกร ศรีอรรถโยธิน
อ่านบทความของผู้ชนะแคมเปญ After covid-19 ท่านอื่นๆได้ที่นี่
เที่ยว Shizuoka สถานีรถไฟเหนือทะเลสาบกับสะพานแขวนแห่งความฝัน (จุดขอพรความรักเน้นๆ)
3 places 3 moods in KANSAI (Osaka-Kyoto-Nara)