ส่องประวัติ! “หมูดำคาโกชิม่า” หมูดำพันธุ์ดีที่ไม่ได้มีดีแค่ชื่อพันธุ์
มิ.ย. 26, 2023
ส่องประวัติ! “หมูดำคาโกชิม่า” หมูดำพันธุ์ดีที่ไม่ได้มีดีแค่ชื่อพันธุ์
หากเพื่อนๆคนไหนเคยได้มาเที่ยวที่ ‘คาโกชิม่า’ สักครั้งแล้ว เราเชื่อว่าหลายๆคนคงรู้จักของอร่อยประจำจังหวัดอย่าง “หมูดำคาโกชิม่า” (Kagoshima Kurobuta) หรือ “หมูดำคุโรบุตะ” กันแน่นอนค่ะ เพราะหมูดำคาโกชิม่านั้นเรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดคาโกชิม่าเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เนื้อคุณภาพดี’ ของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วยค่ะ
แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่า กว่าหมูดำคาโกชิม่าจะกลายมาเป็นหมูดำเกรดพรีเมี่ยมระดับประเทศนั้น ชาวคาโกชิม่าเขาฝ่าฟันและพัฒนาหมูสายพันธุ์นี้ให้กลายมาเป็นแบรนด์เนื้อหมูที่มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร
วันนี้เราจะพาทุกคนมาเจาะลึกทำความรู้จักกับ ‘หมูดำคาโกชิม่า’ หมูดำพันธุ์ดีที่ไม่ได้มีดีแค่ชื่อพันธุ์กันค่ะ
ที่มา : http://www.k-kurobuta.com/
รากฐานทางประวัติศาสตร์กว่า 400 ปี จากอาณาจักรริวกิวสู่แคว้นซัตสึมะ
“หมูดำคุโรบุตะ” หรือ “หมูดำคาโกชิม่า” เป็นหมูดำพันธุ์เบอร์กเชียร์ที่มีรากฐานมาจากประเทศจีน โดยนำเข้ามาทางอาณาจักรริวกิว (โอกินาว่า) ว่ากันว่าหมูดำคุโรบุตะนั้นเข้ามาสู่คาโกชิม่าครั้งแรกเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน โดยไดเมียวชั้นสูงแห่งตระกูลชิมาสึเป็นผู้นำเข้ามาจากเกาะริวกิวนั่นเองค่ะ
ต่อมาในช่วงยุคสมัยเมจิ ชาวคาโกชิม่าได้เริ่มปรับปรุงพันธุ์หมูดำอย่างจริงจัง โดยทำการผสมแบบข้ามสายพันธุ์ระหว่างหมูพื้นเมืองและหมูพันธุ์เบอร์กเชียร์ที่นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ หลังจากทดลองผสมหมูข้ามสายพันธุ์แล้วปรากฏว่าเนื้อหมูมีคุณภาพดีเกินคาด อีกทั้งรสชาติยังอร่อยยิ่งขึ้นด้วย ต่อมาได้มีการส่งออกหมูดำไปยังเขตชิบะอุระ โตเกียวในช่วงสมัยโชวะทศวรรษที่ 20 ด้วยคุณภาพและความอร่อยของเนื้อหมูดำคาโกชิม่า มันจึงกลายเป็นที่รู้จักและโด่งดังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาในปี 1955 ยุคทองของหมูดำคาโกชิม่าก็ได้เดินมาถึง เนื่องจากหมูสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมที่โตเกียวเป็นอย่างมาก จนมีการเรียกชื่อหมูดำที่ผลิตในจังหวัดนี้ว่าหมูดำคาโกชิม่า จากนั้นชื่อของหมูดำคาโกชิม่าก็ได้กลายมาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในฐานะ ‘เนื้อหมูคุณภาพสูง’
หมูดำคาโกชิม่า เคยตกอยู่ในภาวะสูญพันธุ์ชั่วคราว? ได้รับการฟื้นฟูคืนกลับมาได้อย่างปาฏิหาริย์ จากแรงผลักดันของผู้ผลิตที่อยู่เบื้องหลัง
นับตั้งแต่มีการนำเข้าหมูดำมาสู่จังหวัด หมูดำคาโกชิม่าก็ได้สร้างจุดยืนด้านคุณภาพมาตลอด จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงกลางสมัยโชวะทศวรรษที่ 30 ได้มีการนำหมูพันธุ์ลาร์จไวท์(หมูขาว)เข้ามาเลี้ยงในคาโกชิม่า เนื่องจากหมูพันธุ์ลาร์จไวท์สามารถเติบโตได้ดีกว่าหมูดำพันธุ์เบอร์กเชียร์ ด้วยเหตุนี้สัดส่วนการนำหมูดำเข้ามาเลี้ยงจึงลดลงเหลือเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมด และเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก หมูดำพันธุ์เบอร์กเชียร์ก็เข้าสู่ภาวะใกล้สูญพันธุ์อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
แน่นอนว่าสิ่งที่จะช่วยกอบกู้สถานการณ์นี้ได้ก็คือ แนวคิดของผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลี้ยงหมูดำที่เชื่อว่า “ยุคแห่งคุณภาพเหนือกว่าปริมาณจะต้องมาถึงแน่นอน” นอกจากนี้ในปี 1974 ทางจังหวัดคาโกชิม่าได้ตัดสินใจส่งเสริมการเลี้ยงหมูดำเช่นเดียวกัน
ต่อมาทางผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลี้ยงหมูได้ทำการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์หมูดำ จนกลายมาเป็นพันธุ์สุกรที่มีคุณภาพสูงในฟาร์มเพาะพันธุ์ที่กำหนดโดยภาคเอกชน ในขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ประจำจังหวัดคาโกชิม่าก็ได้ทำการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์หมูดำจนสำเร็จ จนกลายมาเป็นห้องปฏิบัติการแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่สามารถผลิต “หมูดำสายพันธุ์คาโกชิม่าเบอร์กเชียร์” (Kagoshima Berkshire) ได้ค่ะ
จากความพยายามที่ต้องการฟื้นฟูหมูดำให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ไป ในท้ายที่สุดจำนวนของหมูดำและเกษตรกรผู้เลี้ยงก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีการปรับปรุงพันธุ์หมูดำจนสำเร็จและสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดได้แล้ว แต่ทางจังหวัดคาโกชิม่าและผู้ผลิตก็ยังคงเดินหน้าวิจัยและพัฒนาพันธุ์หมูดำให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นไป
ยกระดับคุณภาพเนื้อสัตว์ อาหารโปรดคือ “มันหวาน” พร้อมดูแลตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด
หมูดำคุโรบุตะของคาโกชิม่าเป็นเนื้อหมูที่ได้รับการขนานนามว่ามีคุณภาพ ซึ่งเบื้องหลังของคุณภาพการผลิตนั้นก็มาจากการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์หมูดำอยู่เสมอ เพื่อให้ได้เนื้อหมูที่มีคุณภาพมากที่สุดนั่นเองค่ะ
เมื่อปี 1990 กลุ่มผู้เลี้ยงหมูดำคาโกชิม่าได้มีการจัดตั้ง “สภาผู้เลี้ยงหมูดำคาโกชิม่า” และได้มีการกำหนดมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการผลิตหมูดำคาโกชิม่าขึ้นมา
ประการแรกคือ ‘สายพันธุ์หมูดำ’ โดยหมูดำคาโกชิม่าจะต้องเป็นหมูดำสายพันธุ์คาโกชิม่าเบอร์กเชียร์ทั้งหมด โดยไม่รวมหมูดำพันธุ์เบอร์กเชียร์ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือประเทศอื่นๆ และไม่อนุญาตให้มีการนำหมูดำพันธุ์คาโกชิม่าเบอร์กเชียร์ไปผสมกับหมูสายพันธุ์อื่น ทั้งนี้ หมูดำคาโกชิม่าจะมีลักษณะพิเศษหลายอย่างที่ไม่พบในหมูสายพันธุ์อื่น เช่น เนื้อมีความกรอบ ละมุน และมีความอร่อยแบบรสอูมามิ
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการผลิตหมูดำคาโกชิม่า คือช่วงหลังจากที่ขุนหมูดำให้อุดมสมบูรณ์แล้ว ผู้เลี้ยงจะต้องนำมันหวานมาผสมรวมในอาหารสัตว์ด้วยสัดส่วนประมาณ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ และให้หมูดำกินแบบนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 60 วันหรือมากกว่า การให้หมูดำกินของหวานในปริมาณที่พอเหมาะนั้นจะทำให้คุณภาพไขมันของหมูดียิ่งขึ้น เนื้อหมูจะแน่น รวมถึงมีรสชาติอร่อย
นอกเหนือจากการปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตแล้ว อีกหนึ่งมาตรฐานที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ การเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอมและเอาใจใส่ของผู้เลี้ยง ด้วยประการทั้งหมดนี้ หมูดำคุโรบุตะของคาโกชิม่าจึงกลายมาเป็นเนื้อหมูพันธุ์ดีที่มีคุณภาพของญี่ปุ่นนั่นเอง
พิสูจน์ความอร่อยด้วยค่าตัวเลขที่เหนือกว่า ความหวานและรสอูมามิที่ไม่มีใครเทียบได้
จากผลวิจัยที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยคาโกชิม่าและห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ประจำจังหวัด มีการสรุปไว้ว่าเมื่อเปรียบเทียบหมูดำคาโกชิม่ากับสุกรขาวในประเทศและสุกรนำเข้าแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าหมูดำคาโกชิม่ามีปริมาณกรดอะมิโนที่ให้ความหวานและรสอูมามิสูงกว่าหมูพันธุ์อื่นเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เนื้อหมูดำคาโกชิม่าจึงมีรสชาติอร่อยไม่เหมือนที่ไหนๆ
ลักษณะเด่นที่เราจะได้พบเมื่อทานหมูดำคุโรบุตะคือ เราจะสัมผัสได้ถึงศาสตร์แห่งความอร่อยดังต่อไปนี้
- ‘ความกรอบนอกนุ่มใน’ เพราะหมูดำคาโกชิม่ามีเส้นใยกล้ามเนื้อที่มีความละเอียดสูง
- ‘เนื้อมีความแน่น ชุ่มฉ่ำ ไม่อมน้ำ’ เพราะหมูดำคาโกชิม่ามีศักยภาพในการกักเก็บน้ำได้สูง และมีปริมาณน้ำในเนื้อเยื่อไขมันต่ำ
- ‘สัมผัสได้ถึงรสชาติอูมามิและความหวานได้เต็มคำ’ เนื่องจากหมูดำคาโกชิม่ามีสารประกอบที่ให้รสชาติอูมามิในปริมาณมาก เช่น กรดอะมิโนและ Neutral Sugar
- ‘เนื้อนิ่มละลายในปาก ไม่มีกลิ่นคาว ไม่เยิ้ม’ เพราะหมูดำคาโกชิม่ามีอุณหภูมิร่างกายที่เผาผลาญไขมันได้สูง จึงไม่เกิดกลิ่นคาวและรับประทานได้ง่าย
หมูดำคาโกชิม่า ไม่ได้มีเพียงแค่ความอร่อย แต่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกเพียบ!
“หมูดำคุโรบุตะ” ไม่ใช่แค่มีรสชาติอร่อยเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คนทานได้รับสารอาหารอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เช่น โปรตีนและไขมันที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของคอลลาเจนและสารต้านอนุมูลอิสระอีกเป็นจำนวนมาก
หมูดำคาโกชิม่า ไม่เพียงได้รับความนิยมจากผู้ซื้อ แต่ยังได้รับคะแนนประเมินคุณภาพระดับสูงอีกด้วย
หมูดำคาโกชิม่าไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเท่านั้น ด้วยความทุ่มเทจากสภาผู้เลี้ยงหมูดำคาโกชิม่าที่มุ่งเน้นการเพาะพันธุ์หมูชนิดนี้ หมูดำคาโกชิม่ายังได้รับคะแนนประเมินในระดับสูงจากผู้ซื้อที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารอีกด้วย และด้วยเหตุนี้เอง หมูดำคาโกชิม่าจึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ
กระแสตอบรับดีจากทั่วโลก แม้แต่ในต่างประเทศก็ได้รับความนิยม พร้อมปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบันความนิยมของหมูดำคาโกชิม่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีการส่งออกไปต่างประเทศอีกด้วย หากอ้างอิงข้อมูลจากปี 2021 จะพบว่าปริมาณการส่งออกหมูดำคาโกชิม่ามีมากถึง 97 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2015 หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นมา 3 เท่าในเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น
ต่อมาทางสภาผู้เลี้ยงหมูดำคาโกชิม่าได้มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ รวมถึงการเจรจาธุรกิจต่างๆ ทำให้หมูดำคาโกชิม่าเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในเอเชีย และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศถึง 6 ประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ “KAGOSHIMA KUROBUTA” ซึ่งเป็นร้านค้าที่กำหนดโดยสภาส่งเสริมการส่งออกเนื้อสัตว์คาโกชิม่า (Kagoshima Meat Export Federation) ได้เปิดร้านจำหน่ายหมูดำคาโกชิม่าที่ประเทศสิงคโปร์ถึง 4 สาขา (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2021)
เว็บไซต์ของสภาส่งเสริมการส่งออกเนื้อสัตว์คาโกชิม่า >> http://en.k-meat.net/
ที่มา
เฟซบุ๊ก Kagoshima Thailand
เว็บไซต์จังหวัดคาโกชิม่า
อ่านบทความอื่นๆเกี่ยวกับจังหวัดคาโกชิม่า
- “ภูเขาไฟไคมอนดาเกะ” ฟูจิแห่งแคว้นซัตสึมะ
- ชมเสาโทริอิล้ำค่าที่ซุกซ่อนใต้พิภพนานกว่าร้อยปี ณ ศาลเจ้าฮาราโกฉะ
- “ภูเขาไฟซากุระจิมะ” มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติที่ต้องไปเห็นให้ได้สักครั้งในชีวิต
มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ!
รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!
ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ
แท็กยอดนิยม
แชร์บทความนี้
Klook.com
บทความแนะนำจังหวัดใน
ภูมิภาค
คิวชู

จังหวัด ฟุกุโอกะ

จังหวัด ซากะ

จังหวัด นางาซากิ

จังหวัด โออิตะ

จังหวัด มิยาซากิ

จังหวัด คุมาโมโตะ

จังหวัด คาโกชิม่า