ท่องสู่โลกอนิเมะ! เที่ยวญี่ปุ่น ‘ตามรอยอนิเมะ’ ชื่อดังที่มีสถานที่อยู่จริง!
มี.ค. 01, 2024
- ข่าว
- สถานที่ท่องเที่ยว
- เทรนด์
- พื้นที่
- โทโฮคุ
- อิวาเตะ
- ยามากาตะ
- คันโต
- โตเกียว
- คานากาวะ
- กุนมะ
- ชิโกกุ
- เอฮิเมะ
- คิวชู
- ฟุกุโอกะ
- โออิตะ
- คาโกชิม่า
ท่องสู่โลกอนิเมะ! เที่ยวญี่ปุ่น ‘ตามรอยอนิเมะ’ ชื่อดังที่มีสถานที่อยู่จริง!
ทุกคนอยากตามรอย ‘อนิเมะญี่ปุ่น’ เรื่องไหนมากที่สุดคะ?
ปัจจุบันกระแสความนิยมของอนิเมะญี่ปุ่นนั้นไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงเลย ซึ่งรายได้จากบ็อกซ์ออฟฟิศของภาพยนตร์อนิเมชั่นญี่ปุ่นในทุกๆปีสามารถทำลายสถิติของภาพยนตร์ชื่อดังไปได้หลายเรื่อง โดยอนิเมะที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่เป็นมังงะหรือมีเรตติ้งผู้ชมสูงนั้นส่วนใหญ่จะใช้สถานที่จริงมาเป็นต้นแบบ หรือไม่ก็สร้างโลกอนิเมะเรื่องนั้นขึ้นมาใหม่โดยอ้างอิงจากสถานที่จริง รวมถึงการสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครแบบ 3D
สำหรับวงการอนิเมะญี่ปุ่นนั้นนอกจากกระแสจะบูมขึ้นทุกๆปีแล้วยังเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ในด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นอีกด้วย ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าสถานที่ที่ปรากฏอยู่ในอนิเมะมีต้นแบบมาจากสถานที่จริงในญี่ปุ่น ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบอนิเมะญี่ปุ่นหลายๆคนก็อาจจะมาเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อตามรอยฉากในอนิเมะที่ตัวเองชื่นชอบก็เป็นได้ค่ะ
ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำสถานที่ ‘ตามรอยอนิเมะ’ ที่ปรากฏอยู่ในอนิเมะชื่อดังของญี่ปุ่น ซึ่งอนิเมะที่เราลิสต์มาฝากทุกคนกันในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นอนิเมะที่มีรายได้สูงและได้รับความนิยมตลอดกาล รวมถึงอาจจะเป็นหนึ่งในอนิเมะขวัญใจของใครหลายๆคน ซึ่งการได้ตามรอยสถานที่จริงในอนิเมะก็คงจะเป็นอีกหนึ่งความฝันของสายรักอนิเมะญี่ปุ่นกันแน่นอนค่ะ
ถ้าหากทุกคนพร้อมแล้ว เราเดินทางเข้าสู่โลกแห่งอนิเมะกันเลย!
สารบัญ (Index)
- 1. SLAM DUNK (สแลมดังก์)
- 2. Kimetsu No Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร)
- 3. Jujutsu Kaisen (มหาเวทย์ผนึกมาร)
- 4. ภาพยนตร์อนิเมชันจาก ‘สตูดิโอจิบลิ’ (Studio Ghibli)
- 5. Suzume no Tojimari (การผนึกประตูของซุซุเมะ)
1. SLAM DUNK (สแลมดังก์)
“SLAM DUNK” (สแลมดังก์) เป็นมังงะเกี่ยวกับกีฬาบาสเก็ตบอลที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นที่โรงเรียนมัธยมโชโฮคุใน จ.คานากาวะ มังงะเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1990 – 1996 และถูกสร้างเป็นอนิเมะครั้งแรกในปี 1993 อนิเมะเรื่องนี้มีจุดเด่นคือคาแรกเตอร์ของตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะ ‘ซากุรางิ ฮานามิจิ’ ที่เป็นตัวละครหลักของเรื่อง รวมถึงเรื่องราวที่จะทำให้คุณอบอุ่นหัวใจไปตลอดกาล
จุดตัดทางรถไฟหมายเลข 1 หน้าโรงเรียนมัธยมปลายคามาคุระ จ. คานากาวะ
สถานที่แห่งนี้ได้ปรากฏอยู่ในฉากเปิดเรื่องของอนิเมะโดยมีตัวละครหลักที่ชื่อว่า ‘ฮานามิจิ’ กำลังยืนหันหลังพร้อมกับถือกระเป๋าอยู่ ซึ่งฉากดังกล่าวนี้ได้กำเนิดจุดตามรอยอนิเมะที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในหมู่ชาวต่างชาติ อีกทั้งผู้คนยังนิยมมาถ่ายรูปเลียนแบบท่าทางถือกระเป๋าของฮานามิจิอีกด้วยค่ะ
การเดินทาง
- เริ่มต้นที่สถานีโตเกียว (Tokyo Station) ให้นั่งรถไฟสาย Ueno-Tokyo Line มายังสถานี Fujisawa Station จากนั้นนั่งรถไฟต่อมาลงที่สถานี Kamakurakokomae Station สาย Enoden Line โดยใช้เวลาประมาณ 17 นาที แล้วเดินต่ออีกประมาณ 5 นาทีก็จะถึงบริเวณหน้าโรงเรียนมัธยมปลายคามาคุระ
พิกัด
2. Kimetsu No Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร)
“Kimetsu No Yaiba” (ดาบพิฆาตอสูร) เริ่มตีพิมพ์เป็นมังงะตั้งแต่ปี 2016 – 2020 และถูกสร้างเป็นอนิเมะในปี 2019 มังงะเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคไทโช โดยเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักชื่อว่า ‘คามาโดะ ทันจิโร่’ เด็กชายคนหนึ่งที่ถูกปีศาจสังหารพ่อแม่และพี่น้อง โดยเหลือเพียงน้องสาวคนเดียวของเขาที่ชื่อว่า ‘เนสึโกะ’ แต่ทว่าเนสึโกะนั้นได้กลายร่างเป็นปีศาจ ด้วยเหตุนี้ ทันจิโร่จึงต้องต่อสู้กับพวกปีศาจเพื่อค้นหาวิธีทำให้น้องสาวของเขากลับมาเป็นมนุษย์เหมือนเดิม
ศาลเจ้าคามาโดะ (Kamado Shrine) เมืองดาไซฟุ จ. ฟุกุโอกะ
ศาลเจ้าคามาโดะ (Kamado Shrine) เป็นศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงในหมู่แฟนๆอนิเมะเรื่องดาบพิฆาตอสูร เนื่องจากชื่อของศาลเจ้าแห่งนี้คือนามสกุลเดียวกันกับตัวละครหลักของเรื่อง ‘ทันจิโระ คามาโดะ’ และน้องสาวของเขา
นอกจากนี้ กล่าวกันว่าเครื่องแต่งกายของเหล่านักพรตของศาลเจ้าแห่งนี้ยังเป็นลายตารางหมากรุกซึ่งเป็นลายเดียวกันกับชุดของทันจิโร่อีกด้วย ซึ่งที่มาเหล่านี้ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ศาลเจ้าคามาโดะถูกเรียกว่าเป็น “บ้านเกิด” ของทันจิโร่นั่นเอง
การเดินทาง
- เริ่มต้นที่สถานี Hakata Station ให้นั่งรถไฟสาย Nanakuma Line มาลงที่สถานี Yakuin Station จากนั้นให้เปลี่ยนขบวนมานั่งรถไฟสาย Nishitetsu-Tenjin-Omuta Line เพื่อมาลงที่สถานี Nishitetsu-Futsukaichi Station จากนั้นให้เปลี่ยนขบวนมานั่งรถไฟสาย Nishitetsu-Dazaifu Line เพื่อไปลงที่สถานี Dazaifu Station
- เมื่อเดินทางมาถึงสถานี Dazaifu Station แล้วให้นั่งรถบัสมาลงที่ป้าย Mahoroba bus โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาทีก็จะถึง (ค่ารถบัส 100 เยน)
พิกัด
สวนดอกไม้อาชิคางะ (Ashikaga Flower Park) เมืองอาชิคางะ จ. โทชิกิ
สวนดอกไม้อาชิคางะ เป็นจุดชมดอกไม้ตามฤดูกาลและยังเป็นสถานที่จัดงานประดับไฟที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคคันโต ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ดอกวิสทีเรียจะบานสะพรั่งอย่างเต็มที่ ทำให้เราสามารถเพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์อันงดงามที่ชวนให้นึกถึงฉากภูเขาฟูจิคาซาเนะในเรื่อง Kimetsu no Yaiba ซีซั่น 1 ตอนที่ 4 ทันที เนื่องจากดอกวิสทีเรียที่บานสะพรั่งอยู่ภายในสวนดอกไม้อาชิคางะแห่งนี้มีความคล้ายกับภูเขาฟูจิคาซาเนะที่เป็นสถานที่สำหรับการคัดเลือกทีมนักล่าอสูรรอบสุดท้ายนั่นเองค่ะ
การเดินทาง
- เริ่มต้นที่สถานีอุเอโนะ (Ueno Station) โตเกียว ให้นั่งรถไฟสาย Hibiya Line มาลงที่สถานี Kitasenju Station จากนั้นให้เปลี่ยนขบวนไปนั่งรถไฟด่วนพิเศษ Limited Express SPACIA เพื่อไปลงที่สถานี Tochigi Station จากนั้นให้เปลี่ยนไปนั่งรถไฟสาย Ryomo Line ไปลงที่สถานี Ashikaga Flower Park Station ก็จะถึงทันที
- อ่านข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางอื่นๆได้ที่นี่ >>> (ภาษาไทย) https://www.ashikaga.co.jp/thailand/access.html
พิกัด
- ตามรอยสถานที่อื่นๆในอนิเมะ Kimetsu No Yaiba (คลิกที่รูปได้เลย)
3. Jujutsu Kaisen (มหาเวทย์ผนึกมาร)
“Jujutsu Kaisen” (มหาเวทย์ผนึกมาร) เป็นมังงะที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2018 และเริ่มทำเป็นอนิเมะซีซั่นแรกในปี 2020 และซีซั่น 2 ในปี 2023 โดยมังงะเรื่องนี้จะเล่าถึงการต่อสู้ระหว่าง “คำสาป” ที่เกิดจากอารมณ์เชิงลบของมนุษย์กับ “ผู้ใช้คุณไสย” ที่ใช้เวทมนตร์เพื่อขับไล่คำสาป โดยมังงะเรื่องนี้โดดเด่นด้วยฉากการต่อสู้อันดุเดือดและการพรรณนาถึงวิญญาณคำสาปอันน่าสะพรึงกลัวจนกลายเป็นสงครามผู้ใช้คุณไสยนั่นเอง
สถานีชิบูย่า (Shibuya Station)
สถานีชิบูย่าเป็นสถานที่จริงที่ปรากฏอยู่ในอนิเมะเรื่อง Jujutsu Kaisen ซีซั่น 2 ภาคอุบัติการณ์ชิบูย่า สถานที่แห่งนี้ถูกนำมาเป็นฉากในอนิเมะเรื่องนี้หลายตอนทีเดียวค่ะ
พิกัด
ห้างชิบูย่า ฮิคาริเอะ ชั้น B3 (Shibuya Hikarie)
หลังจากที่โกโจ ซาโตรุ (Gojo Satoru) มาถึงย่านชิบูย่าในตอนที่ 32 ของอนิเมะ ห้างชิบูย่า ฮิคาริเอะ ชั้น B3 เป็นจุดที่เขามองเห็นฝูงชนกำลังถูกขังอยู่ในม่านกำบังและเริ่มรู้เป้าหมายของศัตรู
หากแฟนๆอนิเมะคนไหนอยากมาชมสถานที่แห่งนี้ แนะนำให้เลือกทางออกด้านทิศตะวันออกของสถานีชิบะย่า โดยใช้เวลาเดินประมาณ 5 นาทีก็จะถึงค่ะ
พิกัด
ศูนย์กลางเส้นทางรถไฟใต้ดินของสถานีชิบูย่า บนชั้นชานชาลา B5 สายชินโตชิน
สถานที่แห่งนี้ปรากฏอยู่ฉากของตอนที่ 34 เป็นตอนที่เกะโท สุงุรุ (Suguru Geto) ได้ใช้โกคุมงเคียวผนึกโกโจได้สำเร็จนั่นเอง หากใครอยากมาชมสถานที่จริงแห่งนี้อาจจะต้องระวังผู้คนสัญจรไปมากันด้วยนะคะ
*โกคุมงเคียวคือวัตถุต้องคำสาปที่สามารถผนึกได้ทุกอย่าง
สถานี Meiji-jingumae ‘Harajuku’ Sta. ประตูทางออก 2
สถานที่แห่งนี้ปรากฏอยู่ในตอนที่ 32 เป็นตอนที่ทีมเมเม ซึ่งประกอบไปด้วย เมเม อุอุย และอิตาโดริ ยูจิ เดินทางมาถึงสถานี Meiji-jingumae ‘Harajuku’ Sta. และได้แบ่งทีมย่อยเพื่อออกค้นหาผู้คนที่อยู่ภายในสถานี
การเดินทาง
- จากสถานีชิบูย่า จะใช้เวลาเดินประมาณ 13 นาที
- จากสถานีชินจุกุใช้เวลาเดินประมาณ 1 นาที
พิกัด
สถานีรถไฟใต้ดินชิบูย่า ทางออก 13
สถานที่แห่งนี้ปรากฏอยู่ในตอนที่ 31 ของอนิเมะ เป็นตอนที่ทีมนานามิ ซึ่งประกอบไปด้วยอิโนะ ทาคุมะ และเมงุมิ ฟุชิงุโระ กำลังเตรียมพร้อมอยู่กับอิจิจิ คิโยทากะ
พิกัด (ใกล้กับร้าน Tendon Tenya / 天丼てんや 渋谷地下鉄ビル店)
ทางเข้าศูนย์อาหาร ห้างชิบูย่า มาร์ค ซิตี้ (SHIBUYA MARK CITY)
ในตอนที่ 31 ของอนิเมะ สถานที่แห่งนี้เป็นจุดที่ทีมเซนอิง ซึ่งประกอบไปด้วย เซนอิง นาโอบิโตะ, เซนอิง มากิ และโนบาระ คุงิซากิ กำลังพูดคุยและเตรียมพร้อม
การเดินทาง
- ทางเข้าศูนย์อาหาร ตั้งอยู่บนชั้น 4 ห้างชิบูย่า มาร์ค ซิตี้ ใช้เวลาเดินประมาณ 10 นาที จากทางออกทิศตะวันตกของสถานีชิบูย่า
พิกัด
4. ภาพยนต์อนิเมชันจาก ‘สตูดิโอจิบลิ’ (Studio Ghibli)
สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) คือบริษัทผลิตภาพยนต์อนิเมชันที่เป็นที่รักของคนทั่วโลก โดยผลงานของสตูดิโอจิบลินั้นขึ้นชื่อในเรื่องความงดงามของภาพประกอบ โลกทัศน์ เรื่องราว ฯลฯ เรียกได้ว่ามีเสน่ห์จนไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ อีกทั้งภาพยนต์อนิเมชันแต่ละเรื่องยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้นแต่ยังรวมถึงต่างประเทศด้วย
Spirited Away เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘จิฮิโระ’ เด็กผู้หญิงอายุ 10 ขวบ ที่หลงทางเข้าไปในโลกลึกลับ ซึ่งฉากในอนิเมะเรื่องนี้มีสถานที่จริงอยู่ในญี่ปุ่นหลายแห่ง ทุกคนสามารถเดินทางมาสัมผัสโลกทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของอนิเมะเรื่องนี้ได้
‘เรียวกังเซกิเซ็นคัง’ ในชิมะออนเซ็น (Sekizenkan Ryokan) จ. กุนมะ
‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’ ผู้กำกับอนิเมะเรื่องนี้กล่าวว่า เรียวกังอาคารไม้แบบดั้งเดิมและสะพานสีแดงที่ทอดไปสู่เรียวกังเซกิเซ็นคังที่ตั้งอยู่ในชิมะออนเซ็นนั้นเป็นต้นแบบของฉากโรงอาบน้ำอาบุระยะที่อยู่ในอนิเมะเรื่องนี้
การเดินทาง
- เริ่มต้นที่สถานีอุเอโนะ (Ueno Station) ให้นั่งรถไฟด่วนพิเศษ Kusatsu/Shima มาลงที่สถานี Nakanojo Station (ใช้เวลาประมาณ 120 นาที) จากนั้นนั่งรถบัสไปลงที่ป้าย Kirinoki Daira ประมาณ 40 นาที หรือถ้าหากนั่งแท็กซี่จะใช้เวลาประมาณ 20 นาที แล้วเดินต่อประมาณ 5 นาทีก็จะถึง
พิกัด
สถานีชิโมนาดะ (Shimonada Station) จ. เอฮิเมะ
หนึ่งในฉากที่โดดเด่นที่สุดของอนิเมะเรื่อง Spirited Away คือฉากรถไฟที่วิ่งข้ามมหาสมุทร ซึ่งฉากนี้จำลองมาจากสถานีชิโมนาดะซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเอฮิเมะ อีกทั้งยังเป็นสถานีรถไฟที่ใกล้ทะเลที่สุดในญี่ปุ่น
พิกัด
อนิเมะเรื่อง My Neighbor Totoro (โทโทโร่เพื่อนรัก) เป็นเรื่องราวของสองพี่น้องที่มีชื่อว่า ‘ซัตสึกิ’ และ ‘เม คุซะกะเบะ’ ที่ได้ย้ายไปอยู่กับพ่อที่ชนบท โดยอยู่มาวันหนึ่งทั้งสองคนได้พบกับสิ่งมีชีวิตลึกลับที่ชื่อว่า ‘โทโทโร่’ และได้เกิดเรื่องราวขึ้นมากมายจนกลายเป็นความสัมพันธ์อันแสนลึกซึ้ง
แม้ว่าอนิเมะเรื่องนี้จะฉายในปี 1988 แต่กลับเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ของสตูดิโอจิบลิที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
ต้นซีดาร์ยักษ์โทโทโร่ จ. ยามากาตะ
ต้นซีดาร์ญี่ปุ่นต้นนี้เป็นต้นไม้ที่คนในหมู่บ้านต่างเรียกจนติดปากว่า “โคสุกิ โนะ โอสึกิ” เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตโคสุกิของหมู่บ้านซาเคกาวะ กล่าวกันว่าต้นซีดาร์ยักษ์ต้นนี้มีอายุราว 1,000 ปี และบริเวณฐานของต้นมีศาลเทพเจ้าแห่งขุนเขาประดิษฐานอยู่ที่นี่ด้วย
ความพิเศษของต้นซีดาร์ยักษ์ต้นนี้คือรูปร่างของมันซึ่งมีความคล้ายกับตัวละครที่มีชื่อว่า ‘โทโทโร่’ หากใครเป็นแฟนๆภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องนี้ ห้ามพลาดสถานที่แห่งนี้เลยทีเดียวค่ะ
การเดินทาง
- ขับรถเช่าหรือนั่งแท็กซี่จากสถานี Shinjo Station ประมาณ 30 นาทีก็จะถึง
พิกัด
ภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง Princess Mononoke เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ญี่ปุ่นเมื่อปี 1997 เป็นเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างสัตว์ป่ากับมนุษย์ที่เข้ามาธรรมทำลายธรรมชาติ จนเกิดเป็นการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่าสัตว์ป่าที่จะต้องปกป้องผืนป่าแห่งนี้ของพวกเขา
หุบเขาชิราทานิ อุนซุยเคียว เกาะยาคุชิมะ จ. คาโกชิม่า
หุบเขาชิราทานิ อุนซุยเคียว เป็นป่าที่เต็มไปด้วยมอสและต้นยาคุสึกิยักษ์อายุหลายพันปี กล่าวว่ากันว่า ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิเคยมาเยี่ยมชมที่นี่หลายครั้ง และได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในฉากอนิเมะเรื่อง ‘Princess Mononoke’
- อ่านข้อมูลเพิ่มเติม >> “ชิราทานิ อุนซุยเคียว” ป่าดึกดำบรรพ์สุดลึบลับแห่งเกาะยากุชิมะ
การเดินทาง
- เดินทางจากท่าเรือ Miyanoura ประมาณ 25 นาที
- เดินทางจากท่าเรือ Anbo ประมาณ 55 นาที
- เดินทางจากสนามบิน Yakushima ประมาณ 40 นาที
พิกัด
5. Suzume no Tojimari (การผนึกประตูของซุซุเมะ)
Suzume no Tojimari (การผนึกประตูของซุซุเมะ) เป็นผลงานอนิเมชันล่าสุดของผู้กำกับ ‘มาโกโตะ ชินไค’ (Makoto Shinkai) เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในปี 2022
อนิเมชันเรื่องนี้ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครที่มีชื่อว่า ‘ซุซุเมะ’ เด็กสาวอายุ 17 ปีที่อาศัยอยู่ในเมืองอันเงียบสงบในคิวชู จนอยู่มาวันหนึ่งเธอได้พบกับ ‘โซตะ’ ชายหนุ่มที่อยู่ในระหว่างการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อผนึกประตูปริศนา ซุซุเมะจึงได้ติดตามเขาไปและพบกับประตูบานเก่าที่ตั้งอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง เธอจึงได้เอื้อมมือไปเปิดประตูบานนั้นจนเกิดเหตุการณ์หายนะตามมา และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ของซุซุเมะ
ท่าเรือซากาโนเซกิ จ. โออิตะ
ท่าเรือซากาโนเซกิเป็นท่าเรือที่ซุซุเมะและโซตะขึ้นเรือเฟอร์รี่ คิวชิออเรนจ์ (Kyushi orange ferry) เพื่อข้ามฟากไปยังเกาะชิโกกุ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรือเฟอร์รี่คิวชิออเรนจ์นั้นจะมีอยู่จริง แต่เรือเฟอร์รี่คิวชิออเรนจ์ไม่ได้แล่นออกจากท่าเรือซากาโนเซกิจริงๆ หากใครที่อยากลองนั่งเรือเฟอร์รี่คิวชิออเรนจ์แนะนำให้ไปขึ้นที่ท่าเรืออุสุคิ (Usuki Port / 臼杵港)
การเดินทาง
- เริ่มต้นที่สถานี Oita Station ให้นั่งรถไฟสาย Nippou Line ไปลงที่สถานี Kozaki Station จากนั้นนั่งรถบัสไปลงที่ป้าย Saganoseki ก็จะถึงทันที
พิกัด ท่าเรือซากาโนเซกิ
ท่าเรือยาวาตะฮามะ (Yawatahama Port) จ. เอฮิเมะ
ท่าเรือที่ซุซุเมะและโซตะขึ้นฝั่งในเรื่องมีต้นแบบมากจากท่าเรือยาวาตะฮามะในจังหวัดเอฮิเมะ ซึ่งในอนิเมะก็ได้มีการระบุชื่อของท่าเรือไว้อย่างชัดเจน โดยฉากท่าเรือข้ามฟากในเรื่องจะเป็นภาพของท่าเรือยาวาตาฮามะเก่า ในปัจจุบันสถานที่จริงแห่งนี้ได้มีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างแล้ว
จากท่าเรือยาวาตะฮามะ หากเราหันหลังกลับมาก็จะเจอฉากนี้ด้วยค่ะ
ส่วนภาพนี้ถ่ายจากจุดเดียวกัน จะเป็นอาคารอู่ต่อเรือที่ใช้เป็นฉากจริงในเรื่อง
การเดินทาง
- นั่งรถบัสจากสถานี Yawatahama Station ไปลงที่ป้าย Yawatahama-ko bus stop แล้วเดินต่อประมาณ 5 นาทีก็จะถึง
พิกัด
สถานียาวาตะฮามะ (Yawatahama Station) จ. เอฮิเมะ
สถานียาวาตะฮามะ เป็นจุดที่ซุซุเมะและโซตะมาขึ้นรถไฟต่อ โดยใช้เวลาเดินจากท่าเรือยาวาตาฮามะประมาณ 20 นาที
พิกัด
สถานีอิโย-โอซุ (Iyo-Ozu Station) จ. เอฮิเมะ
สถานีอิโย-โอซุ เป็นสถานีกลางของเมืองโอสุ โดยสถานีรถไฟแห่งนี้ถูกนำมาใช้เป็นฉากรูปถ่ายเจ้าแมวไดจินกำลังลงจากรถไฟ JR Shikoku (Kiha 54)
พิกัด
สถานีโอริคาสะ (Orikasa Station) จ. อิวาเตะ
สถานีโอริคาสะ คือสถานที่จริงที่ถูกนำมาใช้เป็นฉากจบของเรื่อง ซึ่งเป็นฉากที่โซตะกำลังบอกลาซุซุเมะและคนอื่นๆ จากนั้นเขาก็ขึ้นรถไฟกลับ
ฉากที่เซริซาวะยืนคุยอยู่กับทามาคิที่สถานี
จากด้านบนของสถานี เราจะมองเห็นจุดกลับรถซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องด้วย
นอกจากนี้ ภายในสถานีโอริคาสะยังมีตุ๊กตาเจ้าแมวไดจินและเก้าอี้วางอยู่ รวมถึงภาพแฟนอาร์ตอีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Suzume no Tojimari ยังอ้างอิงสถานที่จริงในญี่ปุ่นอีกหลายแห่ง หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของอนิเมะเรื่องนี้อย่าลืมไปตามรอยกันน๊า
พิกัด
ที่มา
- https://nijimen.net/topics/427464
- https://jj-senkasouran.bn-ent.net/character/gojo.html
- https://isekai-hitoritabi.com/ja/ghibli-seichi/
- https://astral-tanbou.com/entry/2022/11/21/214753
- http://tsurebashi.blog123.fc2.com/blog-entry-522.html
อ่านบทความที่น่าสนใจจาก fromJapan
- คําบอกรักภาษาญี่ปุ่น “สุคิเดส!” ในภาษาถิ่นทั้ง 47 จังหวัด เขาพูดกันแบบไหน?
- รู้จัก “ประเทศญี่ปุ่น” ด้วยไกด์บุ๊คแดนอาทิตย์อุทัยฉบับเข้าใจง่าย
- จัดอันดับคนดวงดี ปี 2024 ตามตำราญี่ปุ่น (ปีนักษัตร + ราศี + กรุ๊ปเลือด)
มากดไลค์เพจ fromJapan กันเถอะ!
รู้หรือเปล่าว่าพวกเรามี official fanpage ด้วยนะ!
ถ้าไม่อยากพลาดเทรนด์ ข่าวสาร หรือกิจกรรมสนุกๆ ก็ต้องกดไลค์เพจเราแล้วล่ะ